สร้างสติให้สมบูรณ์แบบเป็นทางที่ดีแห่งการพ้นทุกข์ ใน “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” ครั้งที่ ๖๒

ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์วัฒนธรรม เครือข่ายองค์การนักศึกษา ชมรมพุทธศาสน์และประเพณี ชมรมสมาธิและศีลธรรม ร่วมจัดกิจกรรม “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” ครั้งที่ ๖๒ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ณ พุทธศิลป์สถาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก ผศ.เขม เคนโคก รักษาการแทน ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง โดยเมตตาแสดงธรรมโดย “พระอาจารย์สาคร อริโย” เจ้าอาวาสวัดป่าภูเม็งทอง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

“พระอาจารย์สาคร อริโย” เมตตาแสดงธรรมเทศนาสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ สิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิตคือ “สติ” ดังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้คือ โพชฌงค์ ๗ ประกอบด้วยธรรมของการตรัสรู้มี ๗ ประการ ประกอบด้วย ๑) สติ หรือ สติสัมโพชฌงค์ เป็นความระลึก มีสำนึกพร้อม จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ปฏิบัติในขณะนั้น นำไปสู่การสร้างสติให้สมบูรณ์แบบ ๒) ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ให้แสวงหาหรือเฟ้นหามุ่งมั่นแห่งธรรม มีความสอดส่องธรรม มั่นเพียรและระลึกอยู่ตลอดเวลา ๓) วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) เป็นความเพียรให้มาก ทำให้มาก เช่นการศึกษาเล่าเรียนจนจบการศึกษาเป็นความเพียรอีกอย่างหนึ่ง สู่การพ้นทุกข์และการละอกุศล และการเจริญกุศล ๔) ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) มีความอิ่มอกใจอิ่มใจ มีความยินดีในสิ่งต่างๆ ๕) ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ และนำไปสู่สติและสมาธิในที่สุด ๖) สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความตั้งมั่น จิตแน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สร้างกุศลในใจ และ ๗) อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) เป็นการวางใจให้เป็นกลาง เห็นในสิ่งที่เป็นไปตามเป็นจริงของธรรมชาติและโลก ทำให้โดยรวมแล้วธรรมะ ทำให้เกิดสติ และนำไปสู่ความเพียรในที่สุด เมื่อปฏิบัติและยึดถือแแล้วสิ่งต่างๆ ล้วนสอดคล้องและเอื้อเฟ้อซึ่งกันและกัน เป็นทางที่ดีแห่งการพ้นทุกข์

สำหรับกิจกรรม “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” กำหนดจัดต่อเนื่องเป็นประจำในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างคุณค่าศาสนา ศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาเล็งเห็นความสำคัญของการทำนุบำรุงพุทธศาสนากิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การทำวัตรสวดมนต์เย็น เจริญภาวนา และฟัง ธรรมเทศนา พร้อมร่วมกราบไหว้พระศรี ๕๐ ปี มข. พระพุทธรูปไม้ที่มีหน้าตักใหญ่สุดในอีสาน รวมถึงการร่วมปล่อยปลาสร้างกุศล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.๐ ๔๓๒๐ ๒๖๖๓ ภายใน ๔๒๓๐๑, ๔๔๘๙๓ (กำหนดการจัดกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม)

ข่าว : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
ภาพ : ธนัชชา สีสองชั้น / ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

https://cac.kku.ac.th/?p=9223