คณะนิติฯ จัดเสวนา ความเสมอภาคทางเพศ ชี้แนะข้อเสนอเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ เนื่องในวันสตรีสากล (International Women’s Day)

เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๓ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมจัดงาน โครงการสัมมนาวันสตรีสากล ๒๕๖๓ “ผู้หญิงอีสาน ข้อเสนอเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ และสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ  ณ ห้องทองใบ ทองเปาด์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีองค์กรในภาคอีสานที่ทำงานด้านสิทธิและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงกว่า ๑๐ องค์กร และนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ จำนวนกว่า ๑๐๐ คน

ในโอกาสนี้อาจารย์ ดร.รุ่งลาวัลย์ สุดมูล กรรมการประจำคณะ ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า คณะนิติศาสตร์มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นองค์กรจัดงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องความสำคัญในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้านความเสมอภาคทางเพศ และการขจัดการเลือกปฏิบัติของผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เกิดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันคณะได้บริการวิชาการทางสังคม ในการสร้างพื้นที่ Co – Creation ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทางสังคมด้วย

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังถือเป็นการบริหารเครือข่ายทางวิชาการและการสร้างชุมนุมนักกฎหมายและเครือข่ายภาคประชาสังคม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันขององค์ในภาคอีสานที่ทำงานด้านสิทธิและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงกลุ่มต่าง ๆ  และจัดทำข้อเสนอเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ และสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ สู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย การแก้ไขกฎหมาย โดยในช่วงท้ายได้มีการแถลงการณ์ร่วมของเครือข่ายด้วย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ยอมรับและเพิ่มการมีส่วนร่วม อำนาจในการตัดสินใจของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในการพัฒนาทั้งมวล ทั้งการปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การจัดสวัสดิการ การเงินการคลัง และอื่น ๆ โดยมีสัดส่วนตัวแทนของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในคณะกรรมการต่าง ๆ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ระดับชาติ และองค์กรอิสระต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

2.ส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ การมีงานทำ การหารายได้ของผู้หญิง สิทธิของแรงงานหญิงทั้งในและนอกระบบต้องได้รับการคุ้มครองให้ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย ให้มีรายได้ที่เพียงพอในช่วงการลาคลอดและดูแลบุตรหลังคลอด ประกันการมีรายได้ในช่วงว่างงานและถูกเลิกจ้าง

3.เคารพและสนับสนุนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาในสายผู้หญิง ทั้งการปกป้องทรัพยากร การเกษตรและการสืบทอดพันธุกรรม การถักทอ จักสาน และภูมิปัญญาอื่น ๆ ที่เป็นไปเพื่อการพึ่งตนเองและดำรงอยู่ของชุมชน

4.ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเข้าถึงและได้รับการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม และรัฐต้องให้การคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี นักต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ นักต่อสู้ผู้หญิงด้านสิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน

ภาพ/ข่าว : ภัทรา วรลักษณ์

https://th.kku.ac.th/17832/