เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน “U2T Happy Village” นวัตกรรมภูมิปัญญา ล้ำค่าสู่สากล ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และรองศาสตราจารย์เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ ทั้งนี้มีผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาและประชาชนทั่วไปร่วมเป็นเกียรติจำนวนมาก ณ ศูนย์อาหารและบริการ 1 (Complex) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ (U2T for BCG) เพื่อขับเคลื่อนการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ด้วยการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ไปช่วยพัฒนากำลังคน เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG รวมถึงการยกระดับศักยภาพชุมชนให้เป็นพื้นที่เพื่ออรรถประโยชน์และนวัตกรรมที่มาจากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคม เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ ไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ธิดารัตน์ บุญมาศ กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน “U2T Happy Village” นวัตกรรมภูมิปัญญา ล้ำค่าสู่สากลภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG จัดขึ้นบนแนวคิด “นวัตกรรมภูมิปัญญา ล้ำค่าสู่สากล” เพื่อเป็นเวทีให้ตำบลที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตำบล ซึ่งภายในงานมีเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมภายใต้โครงการฯ มาร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าและบริการ มากกว่า 20 ร้าน พร้อมด้วยกิจกรรมการประกวด การแสดงดนตรี และกิจกรรมให้ร่วมสนุกตลอดงาน
รองศาสตราจารย์ เพ็ญศรี เจริญวานิช กล่าวว่า คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ได้ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ซึ่งคณะฯ ได้เข้าไปส่งเสริมและผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายทั้ง Online และ Offline เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
นางวารุณี หอมกลิ่น ประธานกลุ่มดงดีไซน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สมาชิกโครงการ U2T เผยถึงความรู้สึกการเข้าร่วมงานว่า ทางกลุ่มดงดีไซน์ได้ทำผ้าจากลายใบไม้ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ผ้าพันคอ หมวก เสื้อ สินค้าแฟชั่น โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งเสริมวิชาการ การออกแบบผลิตภัณฑ์ เรียกว่าจับมือทำ กลุ่มก่อตั้งมา 1 ปีเศษ แต่ได้รับความสนใจจากสมาชิกและมียอดขายที่ดีมาก นอกจากนี้การรวมกลุ่มยังทำให้ชาวบ้านสร้างสามัคคีกลมเกลียว เมื่อว่างเว้นจากการทำนาการเกษตร ก็รวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้อีกททางหนึ่ง โครงการนี้ดีมากอยากให้มหาวิทยาลัยช่วยส่งเสริมให้มีทุก ๆ ปี