เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ รศ.ดร.ภก.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมต้อนรับ นายจุลภาส เครือโสภณ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจระหว่างประเทศ ในโอกาสเยี่ยมชมพร้อมให้คำปรึกษาแนวทางการพัฒนา การวิจัย และการบริหารจัดการด้านกัญชา-กัญชงเพื่อการแพทย์ และสมุนไพรไทยอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ในด้านการแพทย์ รวมถึงการโอกาสในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม อีกทั้งการผลักดันผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยนายจุลภาส เครือโสภณ และคณะ เข้าเยี่ยมชมพื้นที่และแปลงปลูกกัญชา-กัญชงเพื่อการแพทย์ และศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงพื้นที่ KKU PHAR-Forest และอาคารปฏิบัติการวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง เพื่อการแพทย์ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการดำนเนิการร่วมกันระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และหน่วยงานภาครัฐด้านสาธารณสุข จะเห็นว่าเป็นการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือการปลูก ผลิต พัฒนา และนำไปใช้ ซึ่งที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการนำกัญชา-กัญชงที่ได้รับอนุญาตแล้วนำไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อนำผลผลิตเน้นไปใช้ในทางการแพทย์ โดยจะมีคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วยดูแลในส่วนนี้ ขณะนี้แพทย์มีความสนใจอย่างมากในการนำไปใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มากกว่า 10 โรค เพื่อจะใช้ในกระบวนการวิจัย สร้างความมั่นใจในการนำกัญชา-กัญชงไปใช้ในการรักษาและบรรเทาโรคต่างๆ รวมถึงการนำส่วนอื่นๆ ของกัญชาที่เหลือจากการสกัดไปใช้ในทางสัตวแพทย์อีกด้วย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมไปสู่แนวทางการขยายวิจัยและพัฒนาพืชเสพติดอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์และการพัฒนายารักษาโรค
นายจุลภาส เครือโสภณ กล่าวว่า สำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงรวมถึงสมุนไพรต่างๆ ในไทยเดิมทียังมีการวิจัยน้อย จึงเป็นการสร้างโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมวิจัยและพัฒนาในส่วนนี้ ทั้งนี้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการร่วมพัฒนาและก่อตั้งแผนกสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจเพื่อนำสมุนไพรไทยที่มีการลงทะเบียนในกระทรวงสาธารสุขออกจำหน่ายและเผยแพร่สู่สาธารณะจากนั้นประสบความสำเร็จสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากกระทรวงสาธารณสุขได้นำเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากสมุนไพรไทยมีจุดเด่นมากมาย นอกเหนือจากกัญชาและกัญชงแล้ว มองว่าสมุนไพรไทยที่มีหลากหลายชนิดจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุขรวมไปถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เล็งเห็นจุดนี้เช่นกัน ทั้งนี้จุดเด่นของมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือมีนักวิจัยที่ดี รวมทั้งมีคณะและหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนงานด้านนี้ได้ เนื่องจากสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เร็วที่สุดในขณะนี้คือการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย จะเป็นแนวทางที่ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดดเด่น โดยเฉพาะที่คณะเกษตรศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จะกลายเป็นสถานที่ผลิตสมุนไพรที่มีป่าสมุนไพรเป็นของตัวเอง ซึ่งจะกลายเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเชื่อว่ามีเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้
ด้าน อาจารย์สถาพร สุรพัฒน์ คณะกรรมบริหารสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และตัวแทนจากภาคเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้การปลูกกัญชามีแนวทางในการนำไปใช้เพื่อการแพทย์ ด้วยนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะมีความแตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากที่อื่นจะรีบปลูกและสกัดสารในกัญชา แต่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพยายามพัฒนาสายพันธุ์ของกัญชา โดยการผสมผสานระหว่างพันธุ์กัญชาในท้องถิ่นและจากต่างประเทศเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด นำมาซึ่งสารสกัดจากกัญชาที่มีคุณภาพสูงเช่นกัน เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ ใช้เป็นยาหรือน้ำมัน ลดการปนเปื้อน ทั้งนี้ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงปราศจากธุรกิจ อีกทั้งนี้การมอบทุนวิจัยและพัฒนา สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างระบบในการปลูก โดยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถนำองค์ความรู้ถ่ายทอดให้กับผู้สนใจเมื่อกฎหมายอนุญาตหรือเปิดเสรีในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ได้มีแนวทางในการขยายการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งนอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง โดยทิศทางการใช้สมุนไพรในทางการแพทย์มีมากขึ้นในปัจจุบัน
รศ.ดร.ภก.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์มีพื้นที่ที่เรียกว่า KKU PHAR-Forest เป็นพื้นที่ที่ผสานการอนุรักษ์ธรรมชาติและดิจิทัลเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษา และนำไปสู่การวิจัย ประกอบด้วยสมุนไพรไทยที่หายากและมีคุณค่า อาทิ ว่านชักมดลูก ฟ้าทะลายโจร อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งการวิจัยด้วยห้องปฏิบัติการสำหรับการรักษาสายพันธุ์สมุนไพรส่งผลให้เกิดตัวยาที่คงที่ และสร้างก้อนที่เป็นผลผลิตจากสมุนไพรเพื่อนำไปแปรรูปเป็นยาต่อได้เลย ถือเป็นการวิจัยและพัฒนาที่เรียกได้ว่าต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำครบวงจร แสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ และภูมิปัญญาไทย การนำสมุนไพรไปผลิตเป็นยาสมุนไพรต่อไป ทั้งนี้การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงรวมถึงสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์ นำไปสู่ Bio-Economy ต่อไป มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนักวิชาการจำนวนมาก และพยายามหาช่องทางเพื่อรับใช้สังคม ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดโลก ทั้งนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีห้องปฏิบัติการและอาคารปฏิบัติการสำหรับการวิจัยและเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง และสมุนไพรไทยหลากหลายชนิดอีกด้วย
ในส่วนการส่งเสริม เผยแพร่ และนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการต่อยอดมากงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปสู่สาธารณชนเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบทบาทสำคัญในการวิจัยเพื่อนำไปสู่การต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ได้รับการต่อยอดจากงานวิจัย ที่หาโอกาสในการส่งเสริมและผลักดันให้เข้าสู่ตลาด หรือเป็นที่รู้จักของสังคม โดยเฉพาะการมีบทบาทในการผสานระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับชุมชนในการร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม กระตุ้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัย อาทิ การวิจัยและพัฒนากัญชง-กัญชาเพื่อการแพทย์ การพัฒนาพาวเวอร์แบงค์ KION ซึ่งหลายคณะและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีงานวิจัยที่มีศักยภาพและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทั้งในด้านการแพทย์ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวิศกรรม ด้านการเกษตร ล้วนสามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมาย ทั้งนี้ยังมีการส่งเสริมในการสร้างการรับรู้ไปยังสาธารณชนในหลายช่องทางโดยฝ่ายกิจการพิเศษและกองสื่อสารองค์เป็นตัวประสานและร่วมกับคณะหน่วยงานต่างๆ ในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์และตอบโจทย์สังคมโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว/ภาพ ณัฐวุฒิ จารุวงศ์