ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาประมาณ 20 ปี และ ยังไม่สามารถก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูงเหมือนเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือว่าไต้หวัน ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายฝ่ายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งการส่งเสริมการวิจัยพัฒนา การแก้ปัญหาเรื่องรายได้และฐานะความเป็นอยู่ของคนในประเทศ นับเป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะทำให้ไทยพัฒนาจากประเทศเศรษฐกิจรายได้น้อยมาสู่ระดับที่มีรายได้มากขึ้น จากประเด็นดังกล่าวนำมาสู่โครงการวิจัยบูรณาการของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวข้อ ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลกิจการผลิตปลาร้าและปลาร้าแปรรูป จังหวัดขอนแก่น
รศ.ดร. วนิดา แก่นอากาศ หัวหน้าโครงการระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลกิจการผลิตปลาร้าและปลาร้าแปรรูป จังหวัดขอนแก่น เผยเกี่ยวกับโครงการวิจัยฯ ว่า การวิจัย ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลกิจการผลิตปลาร้าและปลาร้าแปรรูป จังหวัดขอนแก่น เป็นโครงการวิจัยย่อยของโครงการ อาหารอีสานปลอดภัย (Esan Food Safety): ปลาร้าและปลาร้าแปรรูป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวอีสานมีอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคง โดยไม่ต้องพึ่งน้ำฝน สามารถทำงาน มีรายได้ในท้องถิ่น ลดการย้ายถิ่นที่อยู่ในฤดูแล้ง ยกระดับเศรษฐกิจ ก้าวข้ามความยากจน และ มีอาหารปลอดภัยรับประทาน
“การวิจัย ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลกิจการผลิตปลาร้าและปลาร้าแปรรูป จังหวัดขอนแก่น เป็นโปรแกรมเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลของผู้ประกอบการผลิตปลาร้าและปลาร้าแปรรูป โดยครอบคลุมข้อมูลที่และเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการตั้งแต่การผลิตถึงการจำหน่าย ซึ่งนักวิจัยได้พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์ มีการออกแบบโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูลอุปทานและโลจิสติกส์ รวมทั้งระบบการวิเคราะห์และรายงานผล แยกตามต้นทางของผลิตภัณฑ์ แหล่งที่มา กระบวนการผลิต ปัจจัยต่อผลประกอบการผลิตและการแปรรูปปลาร้า เพื่อการจำหน่ายตั้งแต่อุตสาหกรรมในครัวเรือน จนถึงโรงงานผลิต
“คนอีสานทานปลาร้าเป็นประจำ แต่ข้อมูลด้านการผลิตปลาร้าและปลาร้าแปรรูป ตลอดห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของชาวอีสาน เกือบทั้งหมดเป็นภูมิปัญญาที่ถูกกล่าวขานกันมา ไม่มีการบันทึกที่เป็นระบบ จึงเป็นที่มาของการวิจัยครั้งนี้ โดยตลอด 1 ปีในการสำรวจในจังหวัดขอนแก่น 26 อำเภอ 199 ตำบล 2,331 หมู่บ้าน เราเห็นโอกาสว่า ปลาร้า มีมูลค่าการส่งออก ประมาณเกือบพันล้านต่อปี ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เราส่งออกมากที่สุดและเมื่อทำข้อมูลระบบ software ตัวนี้ขึ้นมา ทำให้เห็นว่าตั้งแต่เริ่มต้น เราเอาปลาในประเทศที่อยู่ในแหล่งน้ำจืด น้ำทะเล มาทำปลาร้า โดยภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนอีสาน มีเทคนิคเพิ่มมูลค่าให้อร่อย สามารถเก็บได้ยาวนานมากขึ้น แปรรูปเป็นเมนูอาหาร เกือบ 800 กว่ารายการ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออก 10,578 ล้านบาท เมื่อแปรรูปเป็นแจ่วบองมูลค่าส่งออกเป็น 130,000 ล้านบาท และเมื่อแปรรูปเป็นน้ำปลาร้าพร้อมปรุง เพิ่ม เป็น 170,000 ล้านบาท เห็นได้ว่าแค่แปรรูปตัวปลาร้า ก็สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกได้เยอะมาก” รศ.ดร. วนิดา กล่าว
นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้น ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก ที่สามารถนำมาวิเคราะห์สร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยคณะผู้วิจัยได้เผยแพร่ใน https://plara.kku.ac.th/ ผู้ที่สนใจสามารถนำองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ และ ห่วงโซ่อุปทานของปลาร้าและปลาร้าแปรรูปไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล หรือ software ดังกล่าวยังรองรับการทำ food chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน ของอาหารชนิดอื่นอีกด้วย
รศ.ดร. วนิดา แก่นอากาศ หัวหน้าโครงการระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลกิจการผลิตปลาร้าและปลาร้าแปรรูป จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ข้อมูลของปลาร้าและปลาร้าแปรรูปที่ได้จากการสำรวจและวิเคราะห์ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการหลายประเด็น ไม่ว่าจะการจัดการให้ต้นทุนการผลิตต่ำ กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพการสร้างความสะอาดถูกสุขอนามัยได้ มาตรฐานอาหารปลอดภัย มีมูลค่าจำหน่ายสูง ถูกนำมาพัฒนาให้ผู้ผลิตรายย่อย และสามารถใช้เป็นรูปแบบการผลิตเพื่อสร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาเป็นโรงงานขนาดใหญ่ให้ได้มาตรฐานส่งออก ช่วยให้เกษตรกรชาวอีสานที่จะเป็นผู้ประกอบการมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น
“งานวิจัยตัวนี้เราได้ทำสำเร็จแล้ว ลำดับต่อไปคือการจดลิขสิทธิ์เป็น software ที่สามารถเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารชนิดอื่นๆ ที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในทุกกระบวนการผลิตและเส้นทางการจำหน่ายถึงผู้บริโภค ในรูปแบบฐานข้อมูลห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ที่ดีของอาหารปลอดภัย สอดคล้องกับทิศทางของนโยบายของประเทศ ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรของอาหารเป็นครัวโลกได้”รศ.ดร. วนิดา กล่าว
เชื่อว่าโปรแกรมระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลที่รองรับการทำฐานข้อมูลห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์นี้ (food chain) จะเป็นอีกความหวังหนึ่งที่นำการวิจัยพัฒนามารวมกับจุดแด่นด้านทรัพยากรทางอาหารของไทย ในการแก้ปัญหาเรื่องรายได้และฐานะความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจ ก้าวข้ามความยากจน ประชาชนมีงานและรายได้ที่มั่นคงพอเพียงกับการดำรงชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชน ยกระดับเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงเป็นประเทศที่สามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามจุดมุ่งหมายแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีข้างหน้าได้ในที่สุด