มข.เสวนากู้วิกฤตผลกระทบPM2.5 ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

“ระดมผู้รู้หวังหาแนวทางสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษที่ยั่งยืน”

คณะสาธารณสุขศาสตร์ และกลุ่มวิจัยป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) ได้จัดเสวนาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศ PM2.5 ในหัวข้อเรื่อง “กู้วิกฤตผลกระทบPM2.5 ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ภายใต้โครงการเสวนาวิจัยและบริการวิชาการที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ณ ปัจจุบัน และส่งเสริมงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์  ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2563 ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 08.30 – 13.30 น. ณ ห้องประชุมตักศิลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.อุไรวรรณ    อินทร์ม่วง  รองคณบดีฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข.เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมี รศ. ดร. พรพรรณ สกุลคู คณะกรรมการวิจัยและบริการวิชาการเป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมี ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษทั้งระบบ ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อาจารย์  นักวิจัย และนักศึกษามหาวิทยาลัย สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจทั่วไปร่วมงาน จำนวน 100 คน

สำหรับกิจกรรมการเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบและการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในการนำไปสู่แนวทางที่เหมาะสมในการติดตามเฝ้าระวัง การแก้ไขปัญหา และแจ้งเตือนประชาชน รวมถึงมีแผนป้องกันและรับมือต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นรูปธรรมในระยะยาวตั้งแต่แหล่งกำเนิด
กิจกรรมในช่วงแรกเริ่มขึ้นด้วยการเสวนาจากวิทยากรรับเชิญได้แก่ คุณ วิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 คุณ วาทินี จันทร์เจริญ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ 7 ดำเนินการเสวนาโดย คุณสุมาลี สุวรรณกร บรรณาธิการเครือเนชั่นศูนย์ข่าวภาคอีสาน

         คุณ วิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 กล่าวว่า การจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศได้ถูกกระจายอำนาจความรับผิดชอบไปยังหลายหน่วยงานทำให้การบริหารจัดการอาจยังไม่เป็นเอกภาพมากนัก  ซึ่งทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมก็พบกับปัญหาการจัดหาอุปกรณ์ตรวจวัดให้เพียงพอครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและยังไม่สามารถได้รับอนุมัติงบประมาณในการจัดหาได้เนื่องจากภารกิจนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ   สำหรับข้อมูลที่เราใช้ขณะนี้เราตรวจวัดจากสถานีหลักที่จังหวัดขอนแก่นครอบคุลม 50 กิโลเมตร ซึ่งในประเทศไทยเรามี 60 สถานีโดยมีอยู่ในอีสาน 3 สถานี คือขอนแก่น เลย และนครราชสีมา และสถานีเคลื่อนที่ไปอยู่ที่มุกดาหาร เพื่อการเฝ้าระวังและบริหารจัดการในเขตพื้นที่รวมทั้งสาเหตุที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน  ในส่วนของการวัดค่าที่มีการเผยแพร่ทางสื่อจึงมักจะเป็นค่าที่มาจากจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสถานี ทำให้ดูว่าต้นตอของปัญหาเกิดขึ้นที่นี่  ซี่งในความเป็นจริงแล้วหากวัดจากค่าฮอทสปอตจุดเผาที่เป็นสาเหตุของฝุ่นควันสูงสุด พบว่าอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ  ตามด้วย เลย นครราชสีมา และขอนแก่นตามลำดับ  ค่าของ PM2.5ที่เกิดขึ้นมักจะมีความสัมพันธ์กับฤดูกาลที่มักมีค่าสูงในช่วงต้นปีที่มีฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวต่อด้วยฤดูแล้งเป็นเวลา 3 เดือนในแต่ละรอบปี ซึ่งแน่นอนว่าค่าเหล่านี้จะสูงขึ้นเมื่อปรากฏฮอทสปอตหรือการเกิดการเผาในจุดต่างๆ ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาคือการแก้การเผาไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลเองได้มีแผนปฏิบัติการหรือวาระแห่งชาติที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ ตั้งแต่การจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันมลพิษจากต้นกำเนิด และการบริหารจัดการอื่นๆ   สิ่งสำคัญคือการสร้างการรับรู้ของประชาชนซึ่งเราต้องยอมรับว่ายังทำได้ไม่ถึงเป้าหมายจึงยังมีผู้ที่เผาและสร้างมลพิษให้เกิดขึ้นโดยตัวเขาเองก็ไม่ได้ตระหนักในการป้องกันตนเองรวมทั้งไม่ตระหนักกับปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาด้วย ซึ่งองค์กรหน่วยงานและภาพเอกชนในพื้นที่เองก็ได้มีความพยายามแก้ไขโดยได้มีผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยหาแนวทางร่วมกันกันอยู่อย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีนโยบายของจังหวัดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดขอนแก่น

              คุณ วาทินี จันทร์เจริญ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ 7 กล่าวว่า การเกิดฝุ่นขนาดเล็กเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่อดีตเพราะในการหุงต้มเราใช้ถ่านใช้ฟืนแต่เมื่อก่อนเราอยู่กันไม่หนาแน่น เรามีต้นไม้จำนวนมาก การปนเปื้อนในอากาศถูกบำบัดได้โดยธรรมชาติ แต่การตื่นตัวของประชาชนที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาทำให้มีการเผยแพร่ข้อมูลถึงอันตรายต่างๆออกมามากทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักเพราะเป็นมลพิษที่ปนเปื้อนมากับอากาศ และมีผลกระทบต่อร่างกายโดยตรง ในทางสิ่งแวดล้อมแล้วการศึกษามลพิษทางอากาศถือเป็นเรื่องหลักที่สำคัญแต่ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วอากาศเป็นต้นทุนที่ไม่มีมูลค่าจึงไม่ได้มีใครให้ความสำคัญกับการปล่อยมลพิษออกสู่อากาศเท่าที่ควร จึงนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ เราไม่ค่อยมีระบบการกำกับควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิภาพ ยังรวมถึงนโยบายในการพัฒนาประเทศที่เราอาจไปเน้นที่เศรษฐกิจอุสาหกรรมที่มีการตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณผลผลิตอุตสาหกรรมจึงเป็นปัจจัยเสริมต่อการเกิดมลพิษได้ด้วย  ในส่วนของหน่วยงานรับผิดชอบได้มีความพยายามที่จะระดมหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องมาหารือกันโดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างการรับรู้ การเตือนภัยเฝ้าระวังเรื่องการเกิดโรคให้กับประชาชนได้รู้จักวิธีการป้องกันตนเอง เพราะในเรื่องแหล่งกำเนิดของมลพิษเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของสาธารณสุข จากปัญหามลพิษ PM2.5นี้เราพบว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงประกอบด้วย เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์  ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยผลกระทบจากฝุ่นเหล่านี้ที่อาจมีสารปนเปื้อนมาพร้อมกับฝุ่นก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้หลายลักษณะซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เคยนำเสนอข้อมูลไว้ว่า ประชากรในโลก 9 ใน 10 อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคจากมลพิษทางอากาศ และเสียชีวิตด้วยปัจจัยนี้ปีละ 7 ล้านคน โดยในการศึกษาระหว่างปี 2542-2557 ของกลุ่มประชากรในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบประชากร 1.4 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีผลกระทบมาจากฝุ่น  ซึ่งผลกระทบของฝุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นต่อร่างกายได้หลายระดับตั้งแต่ผิวหนังที่เป็นผื่นคันภูมิแพ้ ผลกระทบต่อดวงตา หรือในเด็กเองเคยมีการวิจัยว่าปัญหาฝุ่นควันมีความสำคัญต่อการเกิดอาการสมาธิสั้นและออทิสติค ส่วนผลกระทบทางเดินหายใจเมื่อฝุ่นเข้าไปสู่ปอด ถุงลม เกิดการอุดกลั้น หากเข้าสู่กระแสเลือดก็จะไปยังอวัยวะต่างๆได้ นำมาสู่อาการหอบที่มีความรุนแรง หรือปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อได้ แต่ทั้งนี้โรคที่มาจากสิ่งแวดล้อมเช่นนี้บางครั้งต้องใช้เวลามากกว่าจะแสดงอาการหรือพิสูจน์ได้ซึ่งในการศึกษาต้องอาศัยกลุ่มผู้ป่วยจำนวนมากจึงจะพบสาเหตุความสัมพันธ์ที่เกิดของโรค จึงอาจกล่าวได้ว่าฝุ่นคือมหันตภัยร้าย มหันตภัยเงียบที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

หลังจากที่การเสวนาในรอบแรกผ่านไป จึงได้มีการบรรยายผลกระทบของ PM2.5 และงานวิจัยเพื่อการศึกษาปัญหา ในหัวข้อโครงการ CKDNETและผลกระทบฝุ่น PM2.5 โดย  รศ.พญ. ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย   หัวหน้ากลุ่มวิจัยป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) หัวข้อ ผลกระทบฝุ่น PM2.5 ต่อโรคระบบทางเดินหายใจ โดย อ.นพ. อภิชาต โซ่เงิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวข้อ ผลกระทบฝุ่น PM2.5 ต่อโรคหลอดเลือดสมอง โดย อ.พญ.กรรณิการ์ คงบุญเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  หัวข้อ องค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดขอนแก่น โดย รศ. ดร. พรพรรณ สกุลคู หัวข้อ นวัตกรรมแจ้งเตือนทางอากาศ โดย อ.ดร. กิตติ์ เธียรธโนปจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดาวเทียมการแจ้งเตือนปริมาณฝุ่น PM2.5 และจุดไฟไหม้ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  นอกจากนี้ยังมีการมอบสื่อลิขสิทธิ์ผลงานการเผยแพร่ให้ความรู้ของ โครงการ CKDNET ให้กับคุณ วิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 และ คุณ วาทินี จันทร์เจริญ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ 7 และผู้แทนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายอนุบาล เพื่อใช้ในการเผยแพร่ให้ความรู้ต่อไป

ข่าว-ภาพ  อุดมชัย สุพรรณวงศ์

https://th.kku.ac.th/12689/