มข. แก้จน หนุนเกษตรกรกาฬสินธุ์ทำฟาร์มจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐาน GAP ทำเงินปีละ 8 ล้านบาท หมุนเวียนในชุมชน FAO ชี้เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

ปัจจุบันตลาดค้าจิ้งหรีดถือว่าสดใสทั้งในประเทศและต่างประเทศ  จำหน่ายเป็นอาหารคน 80-90 เปอร์เซ็นต์ อีก 10-20 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาหารของสัตว์สวยงาม  อาหารคนส่งไปขายที่  จีน เวียดนาม ลาว เขมร ส่วนตลาดในประเทศไทยจิ้งหรีดทอดก็ไปได้สวย ราคาหน้าฟาร์มรับซื้อที่ 80-97 บาท/กิโลกรัม ราคาปลีก 120 บาท/กิโลกรัม นี้จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไมต้องจิ้งหรีด” ทั้งราคาขายที่ดี ระยะเวลาเลี้ยงที่สั้น แถมคุณค่าทางอาหารก็สูง  จากรายงานขององค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เกี่ยวกับ “แมลงที่ทานได้ ถือว่า จิ้งหรีด เป็นความหวังแห่งอนาคตสำหรับ ความมั่นคงทางอาหารและอาหารสัตว์”  แมลงที่ทานได้สามารถแปรรูปเป็นอาหารได้หลายรูปแบบ เช่น เส้นพาสต้า โปรตีนผง ผงโรยข้าว ข้าวเกรียบจิ้งหรีด  น้ำพริกจิ้งหรีด และคุกกี้จิ้งหรีด  จิ้งหรีด 4 ตัว มีโปรตีนสูง เท่ากับ นม 1 แก้ว

สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (สยปพ.มข.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมี รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการ สยปพ.มข. พร้อมด้วย อาจารย์วีระ  ภาคอุทัย อดีตที่ปรึกษา (สยปพ.มข.)  ผศ.เกษม  นันทชัย ผศ.สุวรรณา เนียมสนิท ทีมนักวิจัย พร้อมด้วยเกษตรกรชาวบ้านฮ่องฮี ร่วมให้การต้อนรับ นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างอบอุ่นในการเยี่ยมชมฟาร์มจิ้งหรีด สินค้าแปรรูปจากจิ้งหรีด สินค้าชุมชนอื่นๆอีกมากมายเช่น กลุ่มแปรรูปกล้วยฉาบ  กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร  กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ  กลุ่มจักสานก่องข้าว กลุ่มเน็ตโบว์ติดผม ที่บ้านฮ่องฮี ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์  เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการ สยปพ.มข. และหัวหน้าโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้ชื่อโครงการแกไขปัญหาความยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เรียกว่า “มข. แก้จน” โดยได้เข้ามาช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อที่จะมีอาชีพและรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งได้ลงพื้นที่ใน 2 อำเภอ 5 หมู่บ้านถือว่าประสบความสำเร็จ  ในส่วนของหมู่บ้านฮ่องฮีได้เข้ามาสนับสนุนภายใต้งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สกสว. จิ้งหรีดเป็นอาหารรูปแบบใหม่ในอนาคต ที่คนภาคอีสานคุ้นชินมาอย่างยาวนานและชาวบ้านได้เลี้ยงมากว่า 10 ปีแล้วขณะนี้มีความพร้อมในการขอใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice หรือ GAP) โดยได้นำหลักวิชาเข้ามาช่วยทำให้ชุมชนได้มาตรฐาน GAP สู่ระดับสากล มีการสนับสนุนการรวมกลุ่มในชุมชน การแปรรูป และการตลาด หลังจากที่ได้เข้ามาดูแลใน 6 เดือนที่ผ่านมาทางกลุ่มก็มีความสนใจที่จะยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน GAP ผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านฮ่องฮีได้มีการนำร่องไปขายที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงเกษตร ทบวง กรม และจังหวัด ในอนาคตเราก็จะสนับสนุนในเรื่องของเกษตรปลอดภัยจากการแปรรูปที่เรียกว่า GMP ทำการตลาดและการรวมกลุ่มที่มีความแข็งแรงที่จะผลึกกำลังกับภาคีเครือข่าย พันธมิตรต่าง ๆ ที่ยกระดับกลุ่มชุมชนให้ก้าวสู่ความเป็นสากล”

นางอรวรรณ วอทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีด แมงสะดิ้งจิ้งหรีด บ้านฮ่องฮี หมู่ 14 อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์  กล่าวว่า สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อรับการตรวจประเมินมาตรฐาน GAP ทางกลุ่มจะมีการปรับเปลี่ยนไปทีละส่วน เนื่องจากมรการใช้เงินทุนค่อนข้างสูง ตอนนี้ทางกลุ่มได้ยื่นกู้กับทาง ธกส. เพื่อนำมาปรับปรุงในเรื่องของโรงเรือนให้ได้ตรงตามาตรฐานทั้งความสะอาดของฟาร์ม ผู้เลี้ยงและผู้เยี่ยมชมฟาร์ม เมื่อผ่านมาตรฐาน GAP จะสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ขึ้นสู่มาตรฐาน GMP ของการแปรรูปอาหาร แต่ตอนนี้ทางกลุ่มกำลังประสบปัญหาทางด้านการตลาดที่พ่อค้าคนกลางเป็นคนกำหนดราคาจิ้งหรีด เกษตรกรไม่สามารถกำหนดเองได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขาดทุนจากการส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทำให้กลุ่มของเราต้องผ่านมาตรฐาน GAP ให้ได้เพื่อที่จะทำให้สินค้าของเรามีคุณภาพ ความสะอาดเป็นที่ยอมรับซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายเองและสามารถกำหนดราคาขายโดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มมีทั้งหมด 51 คน มีจำนวนบ่อเลี้ยง 872 บ่อ ยังมีสมาชิกที่ไม่ได้เข้าร่วม 15 คน ที่เลี้ยงและขายจิ้งหรีดเอง ซึ่งรายได้ของจิ้งหรีด 872 บ่อ จะได้ 15 ตันต่อปี ส่งขายในกิโลกรัมละ 70-80 บาท มีเงินหมุนเวียนในชุมชน 8,000,000 บาทต่อปี ที่มีกำไรประมาณ 40 % ของการเลี้ยงจิ้งหรีด นอกจากนี้มูลของจิ้งหรีดก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยใส่แปลงผักแทนการใช้สารเคมีที่ทำให้ได้ผักที่ปลอดสารพิษได้อีกด้วย ”

นางละเอียด ภูดินดาน เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดกลุ่มแปลงใหญ่ บ้านฮ่องฮี หมู่ 14 อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าว่า “เริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี 2555 โดยการรวมกลุ่มกับคนในหมู่บ้านในชื่อ “กลุ่มแมงสะดิ้งจิ้งหรีด” ที่มีสมาชิกทั้งหมด 51 คน ซึ่งจะมีการเลี้ยงแบบครอบครัว เวลาขายเอามาขายรวมกันเป็นการขายในนามของวิสาหกิจชุมชนที่รวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2556 มีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 80 บาท เวลาขายจะหมุนเวียนกันในกลุ่ม สำหรับป้าละเอียดมีจิ้งหรีดอยู่ 15 บ่อ มีรายได้ประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือน อาชีพหลักคือทำนาควบคู่ไปกับการเลี้ยงจิ้งหรีดที่อาชีพเสริม  สายพันธุ์จิ้งหรีดที่นิยมเลี้ยงมี 2 สายพันธุ์คือ พันธุ์ทองดำ กับพันธุ์ทองแดง มีนักวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยในการคัดเลือกสายพันธุ์ ทำให้ได้สายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด อาหารของจิ้งหรีดคือหัวอาหาร  ลำอ่อน ฟักทอง ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้เข้ามาช่วยเหลือเกษตรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ในการเข้ารับการตรวจประเมินมาตรฐาน GAP เพื่อทำให้สินค้าและเศรษฐกิจของชุมชนยกระดับเพิ่มมากขึ้น มีการปรับปรุงฟาร์ม โครงสร้างโรงเรือน การดูแล ความสะอาดผู้เลี้ยง เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้าไปในฟาร์ม  ซึ่งสิ่งเหล่านี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำนักวิชาการมาอบรมให้ความรู้กับพวกเรา

 

นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวกับกลุ่มเกษตรกรบ้านฮ่องฮี ว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ทำให้ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของคนในชุมชนที่มีความเข้มแข็งและสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ จนทำให้ชุมชนมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับจิ้งหรีดที่ผมจะสานต่อความต้องการของชุมชนที่จะทำให้ก้าวไปอีกขั้นในคือเรื่อง มาตรฐาน GAP การติดตามขั้นตอนการกู้เงินของกลุ่ม และการประสานงานกับหลายภาคส่วนในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่จะนำไปต่อยอดให้ก้าวสู่ความเป็นสากล สร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพและการทำงานของชาวบ้านในชุมชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการสนับสนุนต่อยอดชุมชนให้มีอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน  โดยผมจะเร่งการพัฒนาในด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเติบโตพร้อมพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไป โดยยึดพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตรัสไว้ ซึ่งจะทำให้คนชุมชน สังคมและประเทศมีความมั่นคงในชีวิต ภาครัฐพร้อมสนับสนุนเต็มที่ และต้องการให้ประชาชนจริงจัง ลงมือทำและศึกษาระบบการทำงานอย่างรอบด้าน ถ้าเป็นแบบนี้โครงการพัฒนาต่างๆจะไม่ล่มกลางคันแน่นอน เพราะประชาชนเอาจริง ภาครัฐก็หนุนเต็มที่

            

ข่าว ชุตินันท์  พันธ์จรุง  /วนิดา บานเย็น
ถ่ายภาพ ชุตินันท์  พันธ์จรุง

https://th.kku.ac.th/12426/