คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. ออกโครงการบริการวิชาการสู่สังคมด้านการใช้สมุนไพรในสัตว์

ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ เทศบาลตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.จรีรัตน์ เอี่ยมสะอาด ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาได้ร่วมกันออกโครงการบริการวิชาการสู่สังคมในหัวข้อ “การผลิตยาภายนอกสำหรับสัตว์เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อห้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความสามารถในการผลิตยาสมุนไพรสำหรับสัตว์ และมีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรสำหรับสัตว์เกิดขึ้นในชุมชน กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้นำชุมชน นักเรียนและผู้สนใจ จำนวน 40 คน โดยการใช้สมุนไพรรักษาโรคของสัตว์เลี้ยงเป็นแนวทางหนึ่งที่เข้ากันได้กับเกษตรธรรมชาติและทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยการใช้สมุนไพรธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและราคาไม่แพง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาสัตว์เพื่อนำมาใช้ในการรักษาสัตว์ในโรคบางชนิดที่สามารถรักษาเองได้หรือป้องกันการเกิดโรคได้ ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาสัตว์แล้วยังทำให้สัตว์มีสุขภาพดีและส่งผลต่อสุขภาพของคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ทำให้ลดการเกิดการดื้อยา โรคติดต่อระบาดสู่คนและสัตว์อื่น รวมทั้งสามารถลดการใช้สารเคมียารักษาโรคสัตว์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่งทำให้ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสมุนไพร ในการนี้กลุ่มวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยามีความรู้ความสามารถในการผลิตยาสัตว์ เนื่องด้วยมีการสอนวิชาเภสัชกรรมทางสัตวแพทย์ให้กับนักศึกษาโดยเป็นการสอนการผลิตยาสมุนไพรสำหรับสัตว์ทั้งในรูปแบบยากินและใช้ภายนอก ทั้งนี้คุณสมบัติของสมุนไพรที่นำมาใช้ในการเตรียมยานั้นได้มาจากผลจากการวิจัยของหัวหน้าโครงการและผู้ร่วมโครงการและการค้นคว้าผลการวิจัยที่ผ่านมาซึ่งสมุนไพรส่วนใหญ่นั้นเป็นสมุนไพรที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วประชาชนไม่สนใจที่จะนำสมุนไพรเหล่านี้มาใช้ในสัตว์เนื่องด้วยอาจไม่รู้สรรพคุณ ไม่รู้ส่วนที่จะใช้และที่สำคัญไม่รู้ขนาดที่ใช้ในสัตว์ ดังนั้นทางกลุ่มวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์จึงได้ทำการอบรมเชิงปฏิบัติการในการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรในท้องถิ่นสำหรับโรคในสัตว์และสอนการผลิตยาสำหรับสัตว์จากสมุนไพรในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถผลิตยาจากสมุนไพรได้ และสามารถนำยาที่ผลิตได้ไปใช้ในสัตว์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการรักษา ส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพดีและลดการเกิดผลเสียจากโรคสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

https://vet.kku.ac.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=1709:2020-09-18-06-20-37&catid=7:2011-02-02-02-33-47