ในการบำบัดน้ำเสียชุมชน และ น้ำเสียครัวเรือนนั้น โดยทั่วไปจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการเดินระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อใช้ในการเติมอากาศลงในน้ำให้เพียงพอต่อการทำงานของจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำ จึงทำให้การบำบัดน้ำเสียเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อการบำบัดน้ำเสีย ดังนั้น ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนากะโอกะ ประเทศญี่ปุ่น จึงริเริ่มพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ต้องใช้พลังงานในการเติมอากาศให้กับจุลินทรีย์ในน้ำขึ้น โดยได้ทดลองนำฟองน้ำมาเป็นวัสดุตัวกลางให้จุลินทรีย์เกาะติดและเพียงนำน้ำเสียที่ต้องการบำบัดผ่านตัวกลางฟองน้ำที่มีจุลินทรีย์เกาะติดนี้ด้วยระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นก็ได้น้ำที่สะอาดขึ้นได้ จึงเป็นการค้นพบที่สร้างนวัตกรรมในการบำบัดน้ำเสียได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานในการเติมอากาศลงในน้ำ เพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดน้ำเสียโดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการปั๊มอากาศเข้าสู่ระบบ และให้ชื่อเรียกระบบนี้ว่า ระบบดีเอชเอส (Down-flow Hanging Sponge : DHS)
ผศ.ดร. ไปรยา เฉยไสย สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะดำเนินการวิจัยระบบดีเอชเอสสำหรับน้ำเสียชุมชนในประเทศไทย สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ระบบ DHS ทีมนักวิจัยได้ร่วมมือวิจัยพัฒนาระบบดีเอชเอส เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของน้ำเสียชุมชนในประเทศไทยขึ้น โดยเริ่มดำเนินการวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ และทดลองเดินระบบระดับห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และนำมาซึ่งการสร้างระบบถังตกตะกอนควบคู่กับระบบดีเอชเอส ขนาดนำร่อง เพื่อทดลองแนวทางที่ออกแบบวิจัยพัฒนาขึ้นให้เหมาะสมกับน้ำเสียชุมชนในประเทศไทยเป็นแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยได้รับความร่วมมือวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะกะโอกะ และเทศบาลนครขอนแก่น ให้ความร่วมมือในการอนุเคราะห์พื้นที่วิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันนำมาสู่ผลการวิจัยที่แสดงถึงศักยภาพของระบบดีเอชเอสในการบำบัดน้ำเสียชุมชนของเทศบาลนครขอนแก่น ได้ในเวลาเพียง 16 นาที และได้น้ำเสียบำบัดแล้วที่มีค่าบีโอดีต่ำเพียง 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าที่เทียบเท่ากับคุณภาพน้ำของลำน้ำที่มีความสะอาดมาก จากผลการวิจัยที่ผ่านมากว่า 10 ปี
การสัมมนานี้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักการช่าง เทศบาลนครขอนแก่น และ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความร่วมมือในการวิจัยโดยมีเป้าหมายที่จะขยายผลการวิจัยจากฐานการวิจัยระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนโดยระบบดีเอชเอสซึ่งเป็นเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ประหยัดพลังงาน ที่ได้ดำเนินงานร่วมกันมาแล้วนั้นไปสู่การวิจัยเพื่อการขยายผลเพื่อใช้จริง ร่วมกับ คณะวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท เอ็นเจเอส คอนซัลแทนท์ จำกัด บริษัท ซันกิ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มหาวิทยาลัยโทโฮคุ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะกะโอกะ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และ การท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น (Japan’s Ministry of Land Infrastructure Transport and Tourism, MLIT) ในโครงการ Wonder of Wastewater Technology Of Japan (WOW TO JAPAN) จึงนำมาซึ่งการสัมมนาเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีระบบดีเอชเอสเพื่อการประหยัดพลังงานในการบำบัดน้ำเสียชุมชนขึ้นเมื่อวันพฤหัสสับดีที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร. กานดา สายแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมฯ โดยในงานสัมมนา ศาสตราจารย์ ดร. ฮิเดกิ ฮะระดะ จากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ ซึ่งเดิมท่านดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะกะโอกะ ผู้ริเริ่มงานวิจัยระบบบำบัดน้ำเสียดีเอชเอส ได้ให้เกียรติมาบรรยายแนะนำความเป็นมาและประวัติการวิจัยระบบดีเอชเอส ร่วมกับ ผศ.ดร. ไปรยา เฉยไสย จากสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะดำเนินการวิจัยระบบดีเอชเอสสำหรับน้ำเสียชุมชนในประเทศไทย ผู้ริเริ่มการนำระบบถังตกตะกอนมาใช้ควบคู่กับระบบดีเอชเอสเพื่อการบำบัดน้ำเสียชุมชนของประเทศไทยเป็น แห่งแรก ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น นอกจากนี้ยังมี นางปิยะนุช ปัญจพรรค์ หัวหน้า หัวหน้าฝ่ายจัดการสภาพแวดล้อมด้านวัสดุใช้แล้ว ได้ร่วมบรรยายการบริหารจัดการน้ำเสียเทศบาลนครขอนแก่น และ นายชวลิต หงษ์ยนต์ นักวิชาการสุขาภิบาล ชำนาญการพิเศษ สำนักการช่าง เทศบาลนครขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากนั้น หัวหน้าคณะดำเนินงานโครงการ Wonder of Wastewater Technology of Japan (WOW TO JAPAN) คุณโยชิฮิโร่ คิริชิม่า จาก บริษัท เอ็น เจ เอส คอนซัลแทนท์ จำกัด ได้บรรยายถึงที่มาของโครงการและการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ทั้งข้อมูลเชิงเทคนิค และ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลากรจากทั้งสองประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าการแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนความรู้จะนำมาซึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และ ในงานสัมมนานี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีโอกาสเยี่ยมชมระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ระบบถังตกตะกอนควบคู่กับระบบดีเอชเอสระดับจริง และ ระดับนำร่อง สำหรับการบำบัดน้ำเสียชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ณ สถานีสูบน้ำเสียบึงทุ่งสร้าง โดยระบบฯจริงสามารถรับน้ำเสียจากชุมชนที่มีประชากรประมาณ 400 ถึง 1,600 คน และได้เริ่มเดินระบบเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยต่อยอดจากผลงานวิจัยระบบถังตกตะกอนควบคู่กับระบบดีเอชเอสระดับนำร่องที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะกะโอกะ และ เทศบาลนครขอนแก่น ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ซึ่งยังคงเดินระบบต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันอยู่เคียงข้างกับระบบจริง
ในโอกาสนี้ นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น นายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 10 นายพิชิต สมบัติมาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น ให้เกียรติร่วมตัดริบบิ้นเปิดตัวโครงการฯ ณ หน้าระบบดีเอชเอสฯระดับจริง ทั้งนี้โครงการ WOW TO JAPAN จะดำเนินการเก็บผลการวิจัยการเดินระบบถังตกตะกอนควบคู่กับระบบดีเอชเอสระดับจริง สำหรับการบำบัดน้ำเสียชุมชน เทศบาลนครขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง และ จะจัดสัมมนาเพื่อแถลงผลงานวิจัยเผยแพร่ให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นและผู้สนใจอีกครั้งซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม 2562 โดยผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา สามารถยื่นความจำนงค์ ผ่าน ผศ.ดร.ไปรยา เฉยไสย ที่ อีเมล์ pairaya@kku.ac.th ได้ในระหว่างวันที่ 1 -15 กุมภาพันธ์ 2562