คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่ามูลกระบือโดยนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยไส้เดือนดิน”

คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่ามูลกระบือโดยนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยไส้เดือนดิน” ณ ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ ขับเคลื่อนโครงการ U2T เพิ่มมูลค่าทรัพยากรในท้องถิ่น เพิ่มรายได้ชุมชน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่ามูลกระบือโดยนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยไส้เดือนดิน” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลเมืองเพีย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) พื้นที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยมี อาจารย์พัชราภรณ์ ภูมิจันทึก หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน ทั้งนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการได้นำเทคโนโลยีของศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการวิจัยไส้เดือนดินเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชุลีมาศ บุญไทย อิวาย หัวหน้าศูนย์ฯ ให้เกียรติเป็นวิทยากร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มงมูลค่ามูลกระบือ ที่มีอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่ามูลกระบือโดยนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยไส้เดือนดิน” เกิดขึ้นเนื่องจากผลการสำรวจของคณะทำงาน พบว่า พื้นที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เป็นตำบลเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา การทำหัตถกรรมผ้าฝ้ายและผ้าไหมมัดหมี่ การประมงน้ำกร่อย และการเลี้ยงโค กระบือ ลักษณะของพื้นที่มีบางส่วนเป็นพื้นที่ดินเค็ม ทำให้เกษตรกรทำเกษตรได้เพียงในช่วงฤดูฝนที่ความเค็มเจืออจางลง บางส่วนของพื้นที่ตำบลติดกับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ แก่งละว้า ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีการทำประมงพื้นบ้าน บริเวณรอบแหล่งน้ำใช้เพื่อการปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงกระบือเพื่อขาย ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2,000 ตัว นอกจากการขายกระบือแล้ว เกษตรกรจะขายมูลในรูปแบบของกระสอบปุ๋ยราคาขายเพียง 20 -30 บาทเท่านั้น โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ ดำเนินการ ณ วัดโพธิ์ชัย ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเพีย กำนันตำบลเมืองเพีย และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ทำมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจาก 14 หมู่บ้านมากกว่า 100 คน โดยแบ่งลักษณะการอบรมออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ 1. การอบรมเชิงบรรยาย ประกอบด้วย หัวข้อเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักไส้เดือนดิน คือ ที่มาและความสำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลี้ยงไส้เดือนดิน ประโยชน์ของการเลี้ยงไส้เดือนดิน การนำไปใช้ ของปุ๋ยอินทรีย์จากไส้เดือนดิน และมูลค่าที่ได้จากการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน รวมถึงหัวข้อกระบวนการผลิตปุ๋ย มูลไส้เดือนดิน คือ วงจรชีวิตของไส้เดือนดิน สายพันธุ์ที่นิยมใช้เลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ระยะเวลาในการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน และวัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงไส้เดือนดิน โดยในตลอดระยะของการบรรยายผู้เข้าร่วมฯ ให้ความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดี2. การอบรมเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วย การสาธิตขั้นตอนวิธีการเลี้ยงไส้เดือนดิน นำโดยวิทยากร รศ.ดร. ชุลีมาศ บุญไทย อิวาย และคณะผู้ช่วย ได้ร่วมกันสาธิตการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเห็นภาพการปฏิบัติได้ชัดเจน โดยการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมฯ เป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้ทุกคนได้ปฏิบัติจริง และตอนท้ายของการอบรมฯ ได้แจกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ และไส้เดือนดิน ให้กับผู้เข้าร่วมฯ คนละ 1 ชุด เพื่อให้สามารถนำกลับไปปฏิบัติได้ในระยะยาว ซึ่งในการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ผู้เข้าร่วมฯ ทุกท่านให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในการดำเนินการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้ คณะทำงานได้จัดทีมงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ติดตามการเลี้ยงไส้เดือนดิน ปริมาณการเลี้ยง เพื่อจัดทำแผนการตลาด พัฒนาตลาด รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไส้เดือนดินได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของโครงการ U2T ได้ในลำดับต่อไป

https://ags.kku.ac.th/th/2021/04/27/%e0%b8%84%e0%b8%93%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%a8%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b9%8c-%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%a2-30/