คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดฟาง” ณ ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนโครงการ U2T

คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดฟาง” ณ ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนโครงการ U2T เพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพและรายได้เสริมให้กับเกษตรกรในชุมชน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดฟาง” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลกุดเพียขอม (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ณ พื้นที่ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.กิริยา สังข์ทองวิเศษ หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน ทั้งนี้ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการได้บรรยายเรื่อง 1) การเพาะเห็ดนางฟ้า 2) การเพาะเห็ดฟาง และ 3) การทำแปลงสาธิตเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย โดย อาจารย์สุวิตา แสไพศาล และนายปฏิภาณ ถมทา (นักวิชาการ) สังกัดสาขาวิชาโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มองค์ความรู้เรื่องการเพาะเห็ดและการแปรรูปเห็ด เกษตรกรสามารถพัฒนาเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือน โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดฟาง” เกิดขึ้นเนื่องจากผลการสำรวจของคณะทำงาน พบว่า พื้นที่ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นตำบลเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา การทำหัตถกรรมผ้าไหม การเลี้ยงโค และการประมงน้ำน้อย ลักษณะของพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและมีจำนวนแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพหัตถกรรมผ้าไหม และการเลี้ยงโคเป็นหลัก และเกษตรกรเคยพยายามเพาะเห็ดแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยากพัฒนาองค์ความรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ โครงการฝึกอบรมนี้ ดำเนินการ ณ บ้านเลขที่ 99 หมู่ 5 บ้านร่องดูก ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลกุดเพียขอม กำนันตำบลกุดเพียขอม และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจาก 7 หมู่บ้าน จำนวน 70 คน ในการดำเนินการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้ คณะทำงานได้จัดทีมงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ติดตามการนำองค์ความรู้เรื่อง “การเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดฟาง” ไปใช้เพาะเห็ด ต้นทุนและรายได้ รวมถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่พบในระหว่างการดำเนินงาน เพื่อจัดทำแผนการขยายเกษตรกรต้นแบบในชุมชนที่สามารถเพาะเห็ดเป็นอาชีพ สอดรับกับเป้าหมายของโครงการ U2T ได้ในลำดับต่อไป

https://ags.kku.ac.th/th/2021/04/27/%e0%b8%84%e0%b8%93%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%a8%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b9%8c-%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b9%82%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%81/