U2T คณะเกษตรศาสตร์ มข. แปลงร่างไม้กวาดดอกหญ้าบ้านแท่นสู่งานคราฟท์ยกระดับสินค้าชุมชน และเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายผ่าน Line Application ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

เมื่อวันที่ 15 และ 16 ตุลาคม 2564 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) หรือ U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมี ผศ.ดร.อรุณี พรมคำบุตร เป็นผู้ประสานงานตำบล จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า ณ โดมอเนกประสงค์บ้านแท่น หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร.สุกานดา นาคะปักษิณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดของตำบล ร่วมกับนางสมภาร ยอโง้ง และทีมงานอีกจำนวน 2 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้กวาด  การจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เสริมทักษะกลุ่มผู้ประกอบการจัดการกลุ่มและให้ความรู้เรื่องการทำไม้กวาดรูปแบบเดิมให้มีความแข็งแรงทนทาน เป็นที่ต้องการของตลาด 2. พัฒนาสินค้า ให้เกิดมูลค่ามากขึ้นด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ และตอบสนองความต้องการผู้บริโภค และ 3. ขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วยช่องทาง Line OA

กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน โดยการส่งเสริมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดขอนแก่น แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน จึงหยุดชะงักการดำเนินงานไป จากการวิเคราะห์ชุมชนของผู้ปฏิบัติงานโครงการในต้นปีนี้  พบว่า กลุ่มมีความต้องการที่จะดำเนินงานต่อเพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุในชุมมชน โดยเป็นการต่อยอดทักษะที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการฝึกอบรมทีมวิทยากรได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังนี้

  • การพัฒนาสินค้าเดิมและสินค้าใหม่

เดิมกลุ่มไม้กวาด ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้กวาดธรรมดา โดยมีจุดเด่นสินค้า คือ มัดแน่นแข็งแรง ทำให้ดอกหญ้าไม่หลุด อายุการใช้งานนาน แต่ยังขาดช่องทางในการจัดหาปัจจัยการผลิต ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการผลิตสินค้า โครงการฯ โดยทีมวิทยากรและทีมงาน U2T จึงได้ประสานหาแหล่งจำหน่ายปัจจัยการผลิต และส่งเสริมการจัดการการกลุ่ม ให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยการจัดแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบในแต่ละด้าน พร้อมเสริมทักษะการทำไม้กวาด การคำนวนต้นทุน ราคาขายและกำไร  เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารกลุ่มด้วยสมาชิกเอง นอกจากนี้ทีมวิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำไม้กวาดรูปแบบใหม่ทั้ง 3 รูปแบบ ได้แก่ ไม้กวาดแบบแพ  ไม้กวาดแบบเฉียง และไม้กวาดแบบด้าม  ซึ่งไม้กวาดแบบแพ และไม้กวาดแบบเฉียง แตกต่างจากไม้กวาดแบบด้าม คือ มีน้ำหนักเบาสามารถทำความสะอาดพื้นที่เล็กๆ ภายในห้อง เช่น บนโต๊ะ ตามซอกมุมต่างๆ หรือแป้นพิมพ์ เครื่องปริ้น ฯลฯ  และที่สำคัญพกพาง่าย สะดวกต่อการใช้งาน เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าไม้กวาดแบบด้าม  โดยการเอาประสบการณ์ของวิทยากรมาถ่ายทอดจนเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากดอกหญ้า เพื่อขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวัยทำงานที่ชอบไม้กวาดรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น อันจะส่งผลให้เพิ่มมูลค่าไม้กวาด และทำให้กลุ่มไม้กวาดมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย

ลักษณะไม้กวาดแบบแพ น้ำหนัก 0.2 กิโลกรัม ขนาด ยาว 38.5 เซนติเมตร กว้าง 20 เซนติเมตร

ลักษณะไม้กวาดแบบเฉียง น้ำหนัก 0.15 กิโลกรัม ขนาด ยาว 30 เซนติเมตร กว้าง 20 เซนติเมตร

ลักษณะไม้กวาดแบบด้าม น้ำหนัก 0.70 กิโลกรัม ขนาด ยาว 120 เซนติเมตร กว้าง 70 เซนติเมตร

  • การพัฒนาการตลาดทั้งในแบบ offline และ Online

โครงการฯ ได้ประสานกับพ่อค้าคนกลาง เพื่อจะเข้ามารับซื้อผลิตภัณฑ์ไม้กวาดของกลุ่มไปจำหน่ายต่อ ในราคาที่ยุติธรรม และเพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดออนไลน์ ในวันที่ 19-20 ตุลาคม 2564 กลุ่มผู้ผลิตไม้กวาดได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การใช้ LINE, LINE OA และ LINE My Shop เพื่อการประกอบธุรกิจและเพิ่มโอกาสทางการตลาด สู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล” ณ หอประชุมโรงเรียนบ้านหนองแวงมน หมู่ที่ 4 บ้านหนองแวงกลาง ตำบลโคกสง่า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดดำเนินการโดยโครงการฯ ทำให้ในปัจจุบัน กลุ่มมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น โดยทั้งนี้ ผู้ประกอบการกำลังอยู่ระหว่างการผลิต และจะจำหน่ายผ่านตลาด offline และออนไลน์ต่างๆ ทั้งทาง Shopee, Lazada, LineOA และ Facebook ต่อไป เพื่อการประกอบธุรกิจ และเพิ่มโอกาสทางการตลาดสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล

LINE OA และ LINE My shop เพื่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า

สุดท้ายนี้โครงการฯ ขอขอบคุณ ผศ.ดร.สุกานดา นาคะปักษิณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัล  และนางสมภาร ยอโง้ง และทีมงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้กวาด  ในการจัดการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้  นอกจากจะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่มแล้ว ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ในการผลิตและบริหารจัดการกลุ่มและธุรกิจ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มสามารถนำไปต่อยอดและ ถ่ายทอดความรู้ที่ได้แก่ผู้ที่ไม่ได้มาเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ จนเกิดเป็นความยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป

ข่าว : นางสาวทิพวรรณ  อายุคง ผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ภาพ : ทีม U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

 

ที่มา : https://th.kku.ac.th/78584/