สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม จัดกิจกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากท้องนาท่ากระเสริมสู่สินค้าของฝาก ขนมจีนจิ้งหรีดและน้ำยา 4 ภาค ภายใต้โครงการ“การยกระดับผู้ประกอบการอาหารสู่เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” ยกระดับสินค้า ต่อยอดงานวิจัย จับจิ้งหรีดใส่เส้นขนมจีน เพิ่มโปรตีนสร้างจุดขาย เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2566 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธี กล่าวถึงพันธกิจของสำนักบริการวิชาการที่ได้รับงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมขับเคลื่อนการให้บริการวิชาการในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV; Creating shared value) ผนวกกับการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เป็นเป้าหมาย ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมุ่งเป้าหมายไปในด้านการขจัดความยากจน (SDGs 1) การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs 2) และ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs 3) ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อน BCG model การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้หยิบเอาแนวคิดในเรื่องของอาหารอีสานที่ เป็นมรดกทางภูมิปัญญา มายกระดับโดยนำเอาองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เชฟระดับประเทศ มาช่วยพัฒนาเมนูขนมจีน ทั้งสูตรการทำเส้นขนมจีนจิ้งหรีดซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ทั้งสูตรน้ำยาขนมจีน 4 ภาค ยกระดับให้เป็นเมนูทดแทนโปรตีน ซึ่งยุคนี้ ต่างประเทศเขาเริ่มกินแมลงที่เขาเรียกว่า Super food และนำมารับประทานร่วมกับผักสดของตำบลท่ากระเสริม ซึ่งปลูกกันเป็นอาชีพ ด้วยนวัตกรรมนี้ ขนมจีนจิ้งหรีด น้ำยา 4 ภาค ไม่ว่าจะเป็น แกงเขียวหวาน แกงป่า แกงไตปลา น้ำเงี้ยว และน้ำพริกใต้ พอฝึกปฏิบัติการเสร็จแล้วสามารถเปิดร้านจำหน่าย ประกอบอาชีพได้ทันที และได้รับเกียรติจาก นายประสิทธิ์ คลังกลาง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม กล่าวต้อนรับผู้บริหารจากสำนักบริการวิชาการ วิทยากรและ ผู้เข้าร่วมโครงการ
ดร.ธีรวีร์ ดิษยไชยพงศ์
ดร.พงษ์พันธุ์ ศรัทธาทิพย์
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ ดร.ธีรวีร์ ดิษยไชยพงศ์ หรือ เชฟจากัวร์ ผู้อำนวยการสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย และ ผู้ชนะเลิศ Top Chef Thailand ซีซั่น 3 พร้อมด้วย ดร.พงษ์พันธุ์ ศรัทธาทิพย์ จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้ โดยมีหัวข้อ การผลิตเส้นขนมจีนโปรตีนจิ้งหรีด, การทำน้ำยาขนมจีน 4 ภาค, การผลิตเส้นขนมจีนโปรตีนจิ้งหรีดอบแห้งเพื่อเป็นสินค้าของฝากและการสร้าง Story telling. สร้างแบรนด์ แพคเกจจิ้ง
หลังจากเสร็จสิ้นการอบรม มีผู้เข้าอบรมสนใจเปิดร้านจำหน่ายรายบุคคล จำนวน 4 ราย และจัดกลุ่มเพื่อเปิดร้านด้วยกัน จำนวน 4 ราย พร้อมนี้คณะวิทยากรได้ลงเยี่ยมและให้กำลังใจผู้เข้าอบรมที่สนใจเปิดร้านจำหน่ายขนมจีนจิ้งหรีด ที่บ้านคุณแม่อรุณ ตันเรือง 190 หมู่ 4 บ้านท่าโพธิ์ ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ให้ข้อเสนอแนะด้านเทคนิค และการจัดร้าน ซึ่งสำนักบริการวิชาการจะได้ติดตาม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป