วันนี้ ( 21 สิงหาคม 2563 ) เวลา 9.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดตัว The Beegins Co-Working Space พื้นที่สร้างสรรค์ทางธุรกิจ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน โดยมี ผศ.ดร.ธีรวัฒน์ เหล่านภากุล รองผู้อำนวยการด้านเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมและโครงสร้าง อุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการ ณ ห้อง The Beegins Co-Working Space ชั้น 1 อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ นักศึกษา ตลอดจนเพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามยุทธศาสตร์ ด้านจิตวิญญาณแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น (Spiritual)เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Collaboration-Coordination Projects)เศรษฐกิจสร้างสรรค์
ผศ.ดร.ธีรวัฒน์ เหล่านภากุล รองผู้อำนวยการด้านเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมและโครงสร้าง อุทยานวิทยาศาสตร์ เผยว่า The Beegins Co-Working Space อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่นโดย) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจนวัตกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Start up สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความต้องการ ภายในประกอบไปด้วย Share Space ห้องประชุมย่อย และ Outlet by KKUSP โซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ ที่ถือเป็นจุดเชื่อมโยงผู้คนให้เกิดเครือข่ายความรู้ แลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่ Ecosystem ของการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
ภายในงานวันนี้ นอกจากกิจกรรมอภิปรายกลุ่ม และการออกบูทของนักศึกษาในโครงการ Solar Floating , Startup Thailand League , Business Brotherhood และผู้ประกอบการในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีในช่วงเช้า ช่วงบ่ายยังมีกิจกรรมการแข่งขัน Pitching Stage โครงการ Solar Floating System for Smart City Mini-Hackathon ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อต่อยอด Idea ของผู้เข้าร่วมโครงการ ได้นำแนวความคิดไปพัฒนาเป็นผลงานต้นแบบ (Prototype) สนับสนุนพื้นที่แสดงความสามารถแก่นักศึกษา
นายคุณานนท์ สุกทน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อุทยานวิทย์ฯ สนับสนุนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พร้อมเจ้าหน้าที่ คณาจารย์ ให้คำแนะนำในการออกแบบร่างโครงการเพื่อธุรกิจสตาร์ทอัพ กระทั่งตนและเพื่อน สามารถวางเค้าโครงธุรกิจที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันได้สำเร็จ เพื่อใช้ในการนำเสนอผลงาน ใน โครงการ Solar Floating System for Smart City Mini-Hackathon นวัตกรรมกรรมที่ตนและทีมคิดค้นขึ้นคือ “ขนเก่ง” เป็นแอปพลิเคชัน ที่สนับสนุนการขนส่งไม่ให้เกิดการขาดทุน ได้ประโยชน์ทั้งสถานประกอบการบริษัท และผู้ขับรถขนส่ง หลักการคือ ผู้ขับรถหากเดินทางไปส่งของจังหวัดใดแล้ว ไม่อยากตีรถเปล่ากลับ ก็สามารถเข้าแอปพลิเคชันเพื่อหา ผู้ใช้บริการขนส่งสินค้า หรือของอื่น ๆ ไปยังจังหวัดปลายทางได้ด้วยวิธีประมูลราคา วิธีนี้จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ขับรถและบริษัทและคนที่ต้องการขนสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์
“ มหาวิทยาลัยขอนแก่นสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ และตอบโจทย์การศึกษาในยุคปัจจุบัน คือ เราสามารถจับคู่เจอเพื่อน ต่างคณะ เพื่อมาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยกันอย่างลงตัว เช่นผมเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ สนใจเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งสาธารณะ และพาณิชย์ ได้มาผสานกับ พี่ ๆ กลุ่ม วิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่มีความรู้ด้านการผลิต และการออกแบบแอปพลิเคชั่น แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อทำบางอย่าง ไม่ใช่แค่เพื่อการประกวด แต่เพื่อให้สิ่งที่ทำ เป็นประโยชน์ แก้ไขปัญหาสังคมได้จริง และสร้างเม็ดเงินกลับคืนยังผู้ผลิต เป็นการทำโครงการการเรียนที่สนุกมากครับ” นายคุณานนท์ กล่าวทิ้งท้าย
KKU launches the Beegins Co-Working Space
https://www.kku.ac.th/7668
ข่าว / ภาพ : จิราพร ประทุมชัย