รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้ร่วมกับทีมอาจารย์จากอีกหลายคณะศึกษาเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่อง และได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการออกสู่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ประกอบด้วยตนเองพร้อมกับ ผศ.ดร.ชนัญญา จิระพรกุล และ อ.ดร.ยุพรัตน์ หลิมมงคล ได้จัดทำหนังสือคู่มือเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพื่อให้ความรู้กับผู้สนใจ โดยทำออกมาเป็น 3 เวอร์ชั่นคือ สำหรับเด็กซึ่งจะมีภาพวาดการ์ตูน เป็นป๊อบอัพ สีสันสดใส ฉบับสำหรับผู้สูงอายุซึ่งจะมีลักษณะพิเศษคือตัวหนังสือใหญ่ อ่านง่ายสบายตา และสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีข้อมูลเนื้อหาที่น่าสนใจครบถ้วนตีพิมพ์ด้วยสีสันสวยงามเผยแพร่
โดยหนังสือชุดความรู้ทั้ง 3 ฉบับนี้ได้จดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่สามารถเลียนแบบหรือทำเพื่อการค้าได้ แต่หากต้องการเผยแพร่เป็นข้อมูลความรู้สามารถดำเนินการได้ โดยมุ่งหวังให้ความรู้แก่ประชาชนคนทั่วไปเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หรือฝุ่นจิ๋วซึ่งเป็นพิษภัยต่อสุขภาพร่างกายมาก เนื่องจากเป็นฝุ่นพิษที่มาพร้อมกับฤดูหนาวซึ่งในภาคอีสานและเหนือสาเหตุหลักจะมาจากการเผาไหม้ ทั้งเผาอ้อย เผาตอซังข้าว เผาใบไม้ เผาขยะ แต่หากเป็นเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯจะมีสาเหตุจากควันรถ ฝุ่นการก่อสร้าง
หลังจากได้ร่วมกันกับอาจารย์หลายคณะทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่องพบว่าเดือนที่มีปัญหามากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พออากาศปิดสภาพเมืองเหมือนกับเอาฝาชีมาครอบไว้ ก็จะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายและอยู่ในอากาศมาก ประชาชนหายใจเข้าไปก็จะสูดดมเอาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้าไปด้วยเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งแม้มีแอพพิเคชั่นตรวจสภาพอากาศและรายงานสภาพอากาศแต่ประชาชนยังรู้ข้อมูลน้อย บางวันที่แอพพิเคชั่นบอกว่าสภาพอากาศเป็นสีส้มต้องระวังตัวแต่ยังมีการออกมากลางแจ้งอยู่ อย่างครูยังพาเด็กเล็กออกกำลังกายกลางแจ้งซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ในหนังสือคู่มือทั้ง 3 เล่มก็จะบอกถึงสาเหตุ ปัญหาและวิธีการแก้ไขฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพื่อให้ประชาชนป้องกันตัวและเข้าใจมากยิ่งขึ้น
“เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาสุขภาพของเรา เราต้องสนใจ โดยเฉพาะพ่อแม่ครูอาจารย์ต้องตระหนักเรื่องนี้ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพให้บุตรหลานและอยากจะให้มีมาตรการจริงจังในการป้องกันการเผาเพื่อไม่ให้เกิดพีเอ็ม 2.5 รุนแรงไปกว่านี้” รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ชนัญญา สาขาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในคณะทำงานเปิดเผยว่า สำหรับหนังสือคู่มือให้ความรู้ดังกล่าวยินดีเผยแพร่ให้กับผู้สนใจ โดยก่อนหน้านี้ได้ออกไปให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ระดับอนุบาล) เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพราะเป็นอันตรายทั้งกับเด็กเล็กและกับผู้ใหญ่ด้วย หากวันที่อากาศปิดไม่ควรพาเด็กเล็กมาออกกำลังกายกลางแจ้งเพราะจะทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้ และยิ่งช่วงเย็นมีการเผาไหม้ในปริมาณมาก หากมาออกกำลังกายกลางแจ้งอาจจะเกิดอาการสโตรกหรือหัวใจหยุดเต้นได้
เนื้อหาข่าวจาก : komchadluek.net
ภาพ/ข่าว พรพรรณ เพ็ชรแสน
ภาพ/ข่าวจิติมา จันพรม นักข่าวภูมิภาค จ.ขอนแก่น
https://ph.kku.ac.th/thai/index.php/2013-05-21-17-38-42/1253-220163