มข.จัดอบรมให้ความรู้ หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา เรื่อง “ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ให้ปลอดภัยจากความรับผิดทางละเมิด”

วันที่ 21 มกราคม 2565  เวลา 9.00 น. ห้องประชุมสารสิน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ฝ่ายกิจการพิเศษ กองกฎหมาย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ หลักกฎหมายและกระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษาเรื่อง “ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ให้ปลอดภัยจากความรับผิดทางละเมิด”อันเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ภายหลังสถานการณ์ COVID – 19) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 10 การบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาล (Good governance)กลยุทธ์ที่1 วางระบบการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ให้เกิดทั่วทั้งมหาวิทยาลัย (Good governancefor all unit) ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นทุกส่วนงานและหน่วยงาน รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนิติกร ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทั้งผู้สนใจที่เข้าฟังผ่านระบบออนไลน์  ทั้งสิ้น 320 คน จากทั่วทั้งมหาวิทยาลัย โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเป็นประธานในการเปิดโครงการ และ ท่านอนุชา  ฮุนสวัสดิกุล รองอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นวิทยากรบรรยาย

ท่านอนุชา ฮุนสวัสดิกุล รองอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ วิทยากรบรรยาย

            อาจารย์ ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานของการจัดโครงการว่า ตามที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงส่งผลให้ในกรณีที่มหาวิทยาลัย หรือเจ้าหน้าที่สังกัดมหาวิทยาลัยก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งมีลักษณะเป็นการกระทำละเมิดจะต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมายังพบปัญหาว่าผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยยังขาดความรู้ความเข้าใจว่าการกระทำลักษณะใดมีความเสี่ยงที่จะเป็นละเมิด ส่งผลให้ปัจจุบันยังคงมีการกระทำละเมิดและมีกรณีที่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งประกอบกับหลักเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น มีรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก มีความซับซ้อน มีขั้นตอนการปฏิบัติที่หลายขั้นตอน เนื่องจากมีการวางหลักเกณฑ์ต่างๆ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีจำนวนมากและมีการเพิ่มเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีกรณีศึกษาหลายกรณีที่ ศาลปกครอง หรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยแนวปฏิบัติราชการที่ดีไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด จะต้องศึกษาและติดตาม กฎหมาย หลักเกณฑ์ หรือกรณีศึกษาที่มีอยู่จำนวนมากและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์ต่างๆมีอยู่จำนวนมากจึงส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในกรณีที่การปฏิบัติงานไม่ครบถ้วน หรือไม่เป็นตามมาตรฐาน ฝ่ายกิจการพิเศษและกองกฎหมายได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดโครงการอบรมนี้ขึ้น โดยความมุ่งหมายที่จะสร้างองค์ความรู้ และความเข้าใจว่าการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดนั้น มีขั้นตอน วิธีการ ตามระเบียบกฎหมาย และมีกรณีศึกษาใดที่ควรยกขึ้นเป็นอุทาหรณ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของบุคลากร ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้นมิได้มีความมุ่งหมายไปในทางที่จะให้ผลร้ายต่อผู้ปฏิบัติงาน แต่ในทางกลับกันกฎหมายและบทบัญญัติต่างๆล้วนมีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐให้ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำให้เกิดความเสียหาย  โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ดังที่ในหลายกรณีจะเห็นได้ว่าการดำเนินการทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน นับเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้องกังวลต่อความรับผิดมากจนเกินไป อีกทั้งยังเป็นการวางมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกิจการของมหาวิทยาลัย

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานเปิดโครงการ

                  รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดโครงการความว่า “หัวข้อที่วิทยากรซึ่งให้เกียรติกับมหาวิทยาลัยในการมาบรรยายในครั้งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและใกล้ตัวผู้บริหารมากเพราะความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการทำงานของทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ต่างๆนั้นเรามีข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ เป็นเสมือนกฎหมายอยู่แล้วที่เราต้องปฏิบัติ ขณะเดียวกันเรายังมีบุคคลภายนอก บริษัทต่างๆที่เรามีสัญญานิติสัมพันธ์ ดังนั้นการทำงานของเราจึงอยู่กับระเบียบข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ ตลอดจนสัญญาที่เราได้ทำไว้กับมหาวิทยาลัย บุคลากรภายในที่เรามีสัญญาจ้าง  สัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับภายนอก ซึ่งหากเราขาดความรู้ก็อาจเกิดการทำงานที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารที่ไม่จำเป็น ดังนั้นการที่ฝ่ายกิจการพิเศษ กองกฎหมาย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อให้การทำงานมีความราบรื่น สบายใจและเกิดความรอบรู้  การอบรมในวันนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญ ที่เราทุกภาคส่วนจะได้ตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ ตลอดจนข้อควรปฏิบัติ ข้อพึงระวังในการปฏิบัติงานซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อการอบรมเสร็จสิ้นลง ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านจะมีความรู้ความใจเข้าใจ และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ห่างไกลจากความรับผิดทางละเมิด”

      สำหรับกิจกรรมการอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านอนุชา  ฮุนสวัสดิกุล รองอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ซึ่งเป็นผู้มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญ ในฐานะที่ปฏิบัติงานในศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดและวางมาตรฐานในการปฏิบัติงานด้านต่างๆของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  มาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ให้ปลอดภัย ไร้ความรับผิด และกรณีศึกษาการกระทำที่เป็นละเมิด ข้อพึงระวังในการปฏิบัติงานของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่” และหัวข้อ “หลักกฎหมาย หลักเกณฑ์การดำเนินงานและแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมาย”ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังการอบรม (แบบทดสอบPre test และ Post test)อีกด้วย

 

ข่าว – กองสื่อสารองค์กร
ภาพ – ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

ที่มา : https://th.kku.ac.th/88453/