เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ เชิดทอง และ ดร.ชานนท์ สุนทรา พร้อมด้วยนักศึกษาภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติการเพิ่มมูลค่าจากความหลากหลายของทรัพยากรท้องถิ่น พัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์จากใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ทำเป็นวัตถุดิบอาหารวัวเนื้อ โดยวิธีการลดปริมาณไซยาไนด์ให์อยู่ในระดับที่ปลอดภัย กิจกรรมครั้งนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อ เข้าร่วม จำนวน 30 ราย แบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม ดังนี้ 1. บรรยายข้อมูล 2. แนะนำอุปกรณ์ วิธีการ สาธิต และฝึกปฏิบัตินำใบมันสำปะหลังตากแห้ง 3. สาธิตและฝึกทำอาหารข้นที่มีใบมันสำปะหลังตากแห้งเป็นส่วนผสมในสูตรอาหาร 4. แนะนำอุปกรณ์ วิธีการ สาธิตและฝึกปฏิบัตินำใบมันสำปะหลังสดหมัก 5. แนะนำอุปกรณ์ วิธีการ สาธิตและพาฝึกปฏิบัตินำใบมันสำปะหลังสดหมักและหัวมันสำปะหลังสด โดยจุดเด่นของใบมันสำปะหลังตากแห้ง คือ มีโปรตีนสูงถึง 20-25 % ใช้ทดแทนวัตถุดิบโปรตีน เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพดที่มีราคาแพงได้ ทำได้ง่าย ประหยัดต้นทุน แรงงาน และจุดเด่นของใบมันสำปะหลังสดหมักร่วมกับหัวมันสำปะหลังสด คือ เป็นแหล่งเสริมพลังงานและโปรตีน ช่วยเร่งสร้างเนื้อให้กับวัวเนื้อ
สำหรับต้นทุนการทำใบมันสำปะหลังตากแห้ง ราคา 6.38 บาทต่อกิโลกรัม และใบมันสำปะหลังสดหมัก ราคา 1.99 – 2.33 บาทต่อกิโลกรัม สามารถแปรรูปเป็นใบมันสำปะหลังอัดเม็ดสำหรับอาหารสัตว์จำหน่ายในราคา 9 บาทต่อกิโลกรัม หรือบรรจุถุง 30 กิโลกรัม จำหน่ายในราคา 220 บาทต่อถุง ซึ่งคาดหวังว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะมีการขยายผลการใช้ใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีในพื้นที่นำมาเป็นวัตถุดิบทดแทนอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดต้นทุนทั้งในรูปใบมันสำปะหลังตากแห้งและหมักต่อไป
ข่าว โดย สาวิตรี ศรีมงคล ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ที่มา : https://th.kku.ac.th/97035/