“ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐเอกชนกว่า 80 หน่วยงานร่วมสร้างแรงบันดาลใจ
ขับเคลื่อนแนวคิดด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ในภาวะปัจจุบันเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals) ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายหลักในด้านพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาล การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบูรณาการกับเป้าหมายด้านเมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการศึกษาที่เท่าเทียมซึ่งสามารถสอดแทรกเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ล้วนแต่มีความสำคัญและเกี่ยวโยงกัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 80 หน่วยงานในการจัดงาน KKU Maker Green Festival 2020 ขึ้น ในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเวทีให้เกิดการนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆสำหรับผู้ที่สนใจได้นำไปต่อยอดการพัฒนา และการประดิษฐ์ผลงานเชิงสร้างสรรค์ที่สนับสนุนแนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาเป็นประธานในพิธีเปิด และ ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงานและ ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ ในนามของมหาวิทยาลัยเจ้าภาพ
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับในฐานะมหาวิทยาลัยเจ้าภาพว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เป็นสถานที่จัดงาน KKU Maker Green Festival 2020 ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่มีจำนวนมากกว่า 80 หน่วยงาน นับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดขอนแก่น ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และของประเทศไทย เทียบเท่าการจัดงานด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงานที่ยิ่งใหญ่ในต่างประเทศได้ โดย นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้สูงวัย นักเรียน บุคลากรของมหาวิทยาลัย เครือข่ายหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้ที่อาศัยในชุมชนโดยรอบบริเวณมหาวิทยาลัย กว่า 500 คน จะได้สัมผัสความหลากหลายของกิจกรรม และทำให้ทุกท่านได้รับแรงบันดาลใจ มีความตระหนัก ได้รับองค์ความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดทางด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานได้ กระผมขอให้ท่านมีความสุขกับการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน กับกิจกรรมที่หลากหลายทั้งในเชิงวิชาการ และเชิงบูรณาการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน และการดำรงชีวิต และขอให้ทุกท่านภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกเป็นไปได้เร็วยิ่งขึ้น “การพัฒนาเกิดขึ้นเพราะต้องการให้คนทุกคนกินดีอยู่ดี และคนทุกคนมีส่วนในการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก”
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ต้องการมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals) เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่มาก เปิดโอกาสให้ผู้คนแต่ละกลุ่มได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ครอบคลุมไปทุกกลุ่มคน (Knowledge Change for All) ซึ่งเรื่องของเมืองสีเขียว การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นเรื่องของคนทุกคนในสังคม นับเป็นเวทีที่ดีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สร้างความตระหนักรู้ การนำไปต่อยอด และการสร้างเครือข่ายในทุกระดับต่อไป
“ กิจกรรมครั้งนี้มีคำที่สำคัญอยู่ 2 คำคือ Green และ Maker ที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะในปัจจุบันมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับการมี Maker Space และ Maker Ativity มากขึ้นเพราะเราเองกำลังจะพัฒนานักศึกษาคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการและสังคมแห่งนวัตกรรม หากเรายังจัดการเรียนในระบบชั้นเรียนโดยไม่มีพื้นที่ให้เขามาพัฒนาในสิ่งที่เรียนรู้การเกิดนวัตกรรมจะเป็นเรื่องยาก นโยบายของประเทศเราขณะนี้กำลังให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้มี Maker Spaceภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาหรือบุคคลภายนอกที่มีไอเดียมาสร้างต้นแบบของนวัตกรรม สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแรกๆที่เรามี Maker Spaceและกิจกรรม Maker Ativity จำนวนมากอยู่ในระดับ Top ของประเทศ เช่นเดียวกับวันนี้ที่เรานำ Maker มารวมกับ Green ซึ่ง Green ในที่นี้เราครอบคลุมในทุกอย่าง ทั้งเกษตร อาหาร พลังงาน การจัดการขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่ เมื่อเป็น Maker Green เราจึงหวังจะสร้างคนที่เป็น Maker ในการทำต้นแบบนวัตกรรมเพื่อไปตอบสนองสังคมสีเขียว Green Society นับเป็นมิติใหม่ที่สำคัญ ” ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล กล่าวในตอนท้าย
หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดงานแล้ว ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้บรรยายพิเศษเรื่อง Striving SDG by BCG model ต่อด้วยการบรรยายเรื่อง การใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุน Circular Economy and Zero Waste โดย รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ การเสวนา เรื่อง การใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุน Circular economy / zero waste การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง Virtical garden, Tradition Thai Craft , Creative Up Cycling , IOT for Pollution , Granular Fertilizer from Sediment การเยี่ยมชมอาคารต้นแบบอนุรักษ์พลังงานใช้พลังงานเป็นศูนย์ และ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา การประกวดการออกแบบและผลิตชิ้นงานต้นแบบ (International Pitching Stage) การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กรีนมาร์เก็ต การจัดแสดงผลงานเชิงสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการปลูกป่า เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ Innovation hub กองจัดการสาธารณูปโภค พลังงานและสิ่งแวดล้อม วิทยาเขตหนองคาย สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ อุทยานวิทยาศาสตร์ ชมรมบุคลากรอาวุโสมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องและความชำนาญในด้านต่างๆ เช่น เทศบาลนครขอนแก่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายห้องสมุดสีเขียว และอีกหลายๆหน่วยงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มาออกบูธเกี่ยวกับการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยกิจกรรมจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งจะมีการมอบรางวัลการประกวดการออกแบบและผลิตชิ้นงานต้นแบบ (International Pitching Stage) ในเวลา 11.30 น.และพิธีปิด งาน KKU Maker Green Festival 2020 ตามลำดับ
ข่าว-ภาพ อุดมชัย สุพรรณวงศ์