วันที่ 26 สิงหาคม 2563 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย Software Park Thailand) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ หรือ Automation Robotics and Intelligent System: ARI Skill Development Project โดยมี ผศ.ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน และมี รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คุณณัฐพล นุตคำแหง ผู้จัดการงานส่งเสริมเทคโนโลยี เขตอุตสาหกรรมซอฟแวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้บรรยายถึงกิจกรรมสนับสนุนด้านการพัฒนานวัตกรรมและบุคลากรของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรม ด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้าน Software Computer ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่เรามีการจัดการเรียนการสอน โดยได้เชิญอาจารย์มาเป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อให้คำแนะนำปรึกษากับสมาชิกที่ร่วมโครงการนับแต่เริ่มต้นในการจัดทีมจัดกิจกรรมค่าย เพื่อให้ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และต่อยอดให้คำปรึกษาจนเกิดเป็นผลงานต้นแบบได้
ผศ.ภาณุพงษ์ วันจันทึก ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรขั้นสูงอันเป็นความต้องการของประเทศ คือ โครงการ ARI Academy และพัฒนานวัตกรก่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ยกระดับเทคโนโลยีของประเทศ คือโครงการ AI Innovation JumpStart แสดงให้เห็นถึงศักยภาพโครงการ ที่จะสามารถส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมให้มีความพร้อมเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเน้นการบริหารจัดการ การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนากำลังคนเฉพาะทางทักษะสูง ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และเพื่อร่วมพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับชุมชน สังคม และประเทศ โดยโครงการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ หรือ Automation Robotics and Intelligent System: ARI Skill Development Project เป็นการพัฒนานวัตกรก่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ยกระดับเทคโนโลยีของประเทศ ในโครงการ AI Innovation JumpStart ซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่ 2 โดยมีรูปแบบของกิจกรรมด้วยการการประชาสัมพันธ์ เชิญชวน นักพัฒนา ผู้ประกอบการเทคโนโลยี อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ส่งผลงานในลักษณะการทำงานเป็นทีมพัฒนาผลงาน จำนวน 2- 6 คนต่อทีม ที่มุ่งเน้นนักพัฒนาการลงมือปฏิบัติจริงด้านการสร้างผลงานนวัตกรรม ARI ต้นแบบเพื่อใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ในอนาคต เกิดผลงานนวัตกรรมที่เป็นที่ต้องการของตลาด ด้วยการอบรมทั้งด้านเทคนิคและธุรกิจที่จำเป็นสำหรับสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์จากผู้เชี่ยวชาญ และการให้ทุนสนับสนุนสำหรับผลงานต้นแบบที่สามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ในอนาคต พัฒนาทักษะบุคลากรขั้นสูงอันเป็นความต้องการของประเทศ สำหรับกิจกรรมพัฒนาทักษะบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะในครั้งนี้ ได้เริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีการคัดเลือกทีมที่มีความพร้อมเพื่อร่วม KickoffFโครงการกับการจัดBootCampเพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ Design Thinking และ Lean Canvas Business Model จากนั้นจึงคัดเลือกทีมที่ความสามารถในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ คงเหลือ 10 ทีมให้ได้รับทุนสนับสนุน 100,000 บาท และได้เชิญมาเพื่อนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการและบรรยายเสนอแนวคิดการพัฒนาผลงานบนเวทีให้กับคณะกรรมการและสื่อมวลชนตลอดจนนักเรียน นักศึกษาที่ให้ความสนใจมาร่วมชมงานในครั้งนี้
สำหรับผลงาน 10 ทีมที่ผ่านกิจกรรมและได้รับทุนสนับสนุนเพื่อการพัฒนาต้นแบบที่ได้มานำเสนอในงานครั้งนี้ประกอบด้วย
1.ทีม Facail: ระบบติดตามนักเรียนด้วยใบหน้า สะดวก ปลอดภัย
2.ทีมเทศบาลนครอุดรธานี: ระบบวิเคราะห์และจัดการจารจรในเขตเมือง
3.ทีม AVATAR: ระบบติดตามคุณภาพอากาศอัจฉริยะเพื่อคุณภาพอากาศเพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อคุณ
4.ทีม Robot IAC NPU 01: เครื่องมือบริหารมือ Electronic ป้องกันและฟื้นฟู ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อนิ้วมือติด
5.ทีมลุ่มน้ำโขงออนไลน์: ระบบสแกนใบหน้าเข้าออกพนักงาน ไม่เสียเวลา ไม่ต่อคิว
6.ทีม DEC-SIN: ระบบนำเข้า – ส่งออกสินค้าอัตโนมัติเพื่อธุรกิจค้าปลีก
7.ทีมไข่แดง (Yolk): ระบบเพิ่มประสิทธิภาพฟาร์มไข่ไก่
8.ทีม Growup Robotics: หุ่นยนต์ผู้ช่วยเก็บผลผลิตทางการเกษตรยุคใหม่
9.ทีม DDM: โดรนอัจฉริยะประเมินที่ดินเป็นสินเชื่อ
10.ทีม FEAT#3: ระบบ Smart Boilerระบบควบคุมการผลิตไอน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม “ใช้งานง่าย พอเพียง ปลอดภัย และราคาถูก”