คณะเทคโนโลยี มข. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการขับเคลื่อนอุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kaen Geopark) กับทางอบจ.ขอนแก่นและสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 เพื่อร่วมกัน ขับเคลื่อนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีของจังหวัด

 

คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการขับเคลื่อนอุทยานธรณีขอนแก่น กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นและสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 เพื่อร่วมกัน ขับเคลื่อนและพัฒนาอุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kaen Geopark) มุ่งสู่การเป็นอุทยานธรณีระดับโลก ในการนี้คณะผู้บริหารและคณาจารย์คณะเทคโนโลยีนำโดย รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยี, ผศ.นุศรา สุระโคตร หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี, ผศ.พลฤทธิ์ จุลมนต์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ด้านบุคคลและสื่อสารองค์กร และ อ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ในวันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2564 ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับคณะผู้แทนภาคีความร่วมมือที่ได้ร่วมกิจกรรมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายธาดา พรหรมสาขา ณ สกลนคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น, นางพัฒนาวดี วิริยปิยะ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และนางสาวดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2

 

 

 

 

อุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kaen Geopark) มีเขตครอบคลุมพื้นที่อำเภอเวียงเก่า และอำเภอภูเวียง ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์ซึ่งเป็นทรัพยากรธรณีที่มีความสำคัญระดับโลก ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการโดยจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ อุทยานธรณีขอนแก่น และมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนอุทยานธรณีขอนแก่นสู่ความเป็นสากล ซึ่งทางอุทยานธรณีขอนแก่นนั้นได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมยื่น ขอรับการประเมินเป็นอุทยานธณีโลกโดย UNESCO ด้วยอุทยานธรณีขอนแก่นนั้นเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีความสำคัญระดับโลก เนื่องด้วยเป็นที่ตั้งของหุบเขาไดโนเสาร์ภูเวียงซึ่งได้มีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์แห่งแรกในประเทศไทย และค้นพบสายพันธุ์ไดโนเสาร์ใหม่ของโลกจำนวน 5 สายพันธุ์ คือ

  1. ภูเวียงโกชอรัส สิรินธรเน่
  2. สยามไทรันนัส อิสานเอนซิส
  3. สยามโมชอรัส สุธีธรนิ
  4. กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส
  5. ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ

และยังมีการค้นพบฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ในยุดครีเทเซียสเป็นจำนวนมาก เช่น หอยสองฝา จระเข้ ฉลาม และปลาเกล็ดแข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ในเขตพื้นที่อำเภอภูเวียงและเวียงเก่ายังมีแหล่งท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอีสานที่ทรงคุณค่าที่พร้อมรอต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าศึกษาและหาความรู้ด้านวัฒนธรรม ต่อไปในอนาคต โดยการเป้าหมายของการจัดตั้งอุทยานธรณีมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา พร้อมสนับสนุนและเสริมสร้างเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม

 

นางวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน (สอทอ.)

ในการนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้เชิญนางวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน (สอทอ.) เพื่อร่วมอภิปรายและแนะนำแนวทางการพัฒนา Khon Kaen Geopark ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งทางนางวสุมน เนตรกิจเจริญได้เน้นย้ำถึงการชูประเด็น การท่องเที่ยวที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่มีศักยภาพสูงที่ไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้ในช่วงนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวควรพัฒนาการบริการที่ครบวงจรและตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภคอย่างแท้จริง รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวควรมีการจัดการด้านการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ที่สามารถลดปริมาณคาร์บอนเครดิตเพื่อเน้นสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

 

นายธาดา พรหรมสาขา ณ สกลนคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
นางพัฒนาวดี วิริยปิยะ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น

 

ในการลงนามบันทึกความเข้าใจการขับเคลื่อนอุทยานธรณีขอนแก่นครั้งนี้ ตัวแทนภาคีความร่วมมือสามฝ่ายที่ได้เข้าร่วมพิธีลงนามประกอบด้วย นายธาดา พรหรมสาขา ณ สกลนคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น, นางพัฒนาวดี วิริยปิยะ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น, รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยี, ผศ.นุศรา สุระโคตร หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี และนางสาวดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 โดยทางนายธาดา พรหรมสาขา ณ สกลนคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งอำเภอเวียงเก่าและอำเภอภูเวียงนอกจากจะเป็นแหล่งฟอสซิลที่เก่าแก่ของโลกแล้ว ยังมีสภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยแหล่งน้ำและลำธารที่สามารถมีกิจกรรมพายเรือคายัค และมีสวนผลไม้หลายแห่งที่ร่มรื่นเหมาะกับการต้อนรับน้กท่องเที่ยวและสร้างเป็นร้านอาหารในสวนได้ด้วย

 

 รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยี
นางสาวดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2

ทาง รศ.ดร.พรเทพ ถนนแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยี ได้กล่าวเสริมถึงการพัฒนาการศึกษาและงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมกันจากทุกสาขาวิชาในคณะตั้งแต่การสำรวจและพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่น และการจัดการการผลิตผ้าไหมและของที่ระลึก ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการช่วยผลักดันใน Khon Kaen Geopark มีสินค้าและบริการที่หลากหลายเพื่อนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว และนางสาวดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 ได้ย้ำถึงการดำเนินการผลักดันให้แหล่งอุทยานธรณีทั้ง 3 แห่งของภาคอีสาน คือ อุทยานธรณีโคราช อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก และอุทยานธรณีขอนแก่น เป็นอุทยานธรณีโลก ต่อไป สำหรับรายละเอียดบันทึกความเข้าใจการขับเคลื่อนอุทยานธรณีขอนแก่น ด้านธรณีวิทยา ในส่วนที่คณะเทคโนโลยีรับผิดชอบนั้นมีภารกิจหน้าที่ครอบคลุมด้านการศึกษาวิจัยด้านธรณีวิทยา ด้านอาหาร ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในรูปแบบสหวิทยาการ รวมทั้งสนับสนุนการเรียนการสอนที่ใช้พื้นที่ Khon Kaen Geopark เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษาและบุคลากรของคณะ รวมทั้งส่งเสริมการบริการวิชาการสู่สังคมเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน โดยบันทึกความเข้าใจนี้มีระยะเวลา 3 ปี

อ้างอิง : อุทยานธรณีขอนแก่น

 

https://te.kku.ac.th/?p=19739