U2T คณะเกษตรศาสตร์ มข. จัดอบรมเพื่อให้ความรู้ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมร่วมออกแบบระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสำหรับครัวเรือนเกษตรกร มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างรายได้ตลอดปีจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. ผศ.ดร. อรุณี พรมคำบุตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) หรือ U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ นายกัมพล ไทยโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมง จากสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดฝึกอบรม “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน” แก่เกษตรกรผู้สนใจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ้านโนนแดงน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น และผู้ปฏิบัติงานภายใต้โครงการฯ โดยมี นายกัมพล ไทยโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เป็นวิทยากรหลักในการฝึกอบรมร่วมกับ นายธนากร เฉื่อยฉ่ำ และนาย สมหวัง กูกขุนทด พนักงานเกษตร เป็นผู้ช่วยวิทยากร การอบรมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงน้ำน้อย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และออกแบบการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำและลักษณะครัวเรือนเกษตรกรแต่ละคนเพื่อให้มีแหล่งอาหารบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้จากการจำหน่ายในชุมชนตลอดทั้งปี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักถูกมองว่าเป็นภูมิภาคแห่งความแห้งแล้ง เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีระบบชลประทานขนาดใหญ่จำกัด ในปี 2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน 56 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงมีการปรับตัวเพื่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กประจำครัวเรือน ประกอบกับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการมีเงินทุนของเกษตรกร และเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาที่ถูกลง ทำให้เกษตรกรบางส่วนสามารถบริหารจัดการทำให้มีน้ำเพียงพอตลอดทั้งปี บ้านโนนแดงน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านที่อยู่นอกเขตชลประทาน และเกษตรกรบางรายสามารถบริหารจัดการจนทำให้มีน้ำได้ตลอดปีหรือบางช่วงเวลาของปี และสนใจที่จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนและสร้างรายได้ โครงการฯ จึงจัดการอบรมในพื้นที่จำนวนหนึ่งครั้ง เมื่อวันที่  11 มิถุนายน 2564  ณ โดมอเนกประสงค์ หมู่ที่ 5 บ้านโนนแดงน้อย ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น  โดยมี นายกัมพล         ไทยโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เป็นวิทยากรเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าใจรูปแบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่หลากหลายและเหมาะสมกับแต่ละสภาพ และปริมาณน้ำที่เป็นข้อจำกัดของเกษตรกร และเพื่อให้เกษตรกร ได้เข้าใจในรายละเอียด และเห็นรูปธรรมในการดำเนินกิจกรรมเพิ่มขึ้น โครงการฯ จึงจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ต่อเนื่อง

ในการฝึกอบรม วิทยากรได้ให้ความรู้เรื่อง การเลี้ยงปลาหลายชนิดที่มีนิสัยการกินแตกต่างกันร่วมกันในบ่อดิน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณและคุณภาพของปลาต่อบ่อ โดยแนะนำให้เลี้ยงปลาตะเพียน ปลานิล ปลายี่สกเทศ และปลาไนร่วมกัน ทั้งนี้เพราะปลาตะเพียนกินพืชผักเป็นหลัก และกินอาหารอยู่ระดับผิวน้ำ เมื่อขับมูลออกมาจะสร้างแพลงก์ตอน (ทำให้น้ำมีสีเขียว) ซึ่งจะเป็นอาหารของปลานิล ในขณะที่ปลายี่สกเทศที่กินอาหารกลางบ่อถึงก้นบ่อ ชอบกินพืชน้ำ หญ้าที่น่าเปื่อย และกินเศษอาหารที่เหลือจากปลาที่กินระดับผิวน้ำ จะช่วยทำความสะอาดบ่อ ในขณะที่ปลาไนที่ชอบขุดคุ้นหากินที่ก้นบ่อ จะกินอาหารทุกอย่างที่มี จะเป็นปลาที่ช่วยทำความสะอาดบ่อ และเพิ่มประสิทธิภาพอาหารที่เลี้ยงได้ โดยมีสัดส่วนในการปล่อยปลาแต่ละชนิดต่อบ่อที่เหมาะสม เช่น บ่อขนาด 1 ไร่ ควรปล่อยปลาตะเพียน ปลานิล จำนวน 600-800 ตัว ปลายี่สกเทศ จำนวน 200-400 ตัว และปลาไน จำนวน 100-200 ตัว   โดยระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน สามารถให้ผลผลิตปลา 400-600 กิโลกรัมต่อไร่นอกจากนี้ วิทยากรยังได้แนะนำวิธีสร้างอาหารธรรมชาติไว้ที่มุมบ่อ โดยการกองเศษหญ้าหรือฟางข้าวร่วมกับปุ๋ยคอกเป็นชั้นๆ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการเลี้ยงปลาได้ วิทยากรยังได้แนะนำเกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชังเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์จากบ่อได้มากขึ้น โดยวิทยากรได้ยกตัวอย่าง การเลี้ยงปลาหมอไทยในกระชัง โดยการคำนวนต้นทุนในการเลี้ยง และวิธีการจัดการและประเมินขนาดปลาที่ควรได้หากจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถจับขายได้ภายในระยะเวลา 4 เดือน

ในกรณีที่เกษตรกรมีพื้นที่และปริมาณน้ำจำกัด วิทยากรได้แนะนำการทำประมงน้ำน้อย โดยการขุดบ่อดินขนาดความกว้าง 1.5 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 1.5 เมตร สามารถเลี้ยงปลาดุก จำนวน 40-100 ตัว/ตารางเมตร ปลาช่อน จำนวน 40-50 ตัว/ตารางเมตร และปลาหมอไทย 30-50 ตัว/ตารางเมตร หรือ การเลี้ยงกบร่วมกับปลาหมอไทยในกระชังบก โดยสามารถขังน้ำสูงเพียง 20 เซนติเมตรได้ โดยมีอัตราการปล่อยกบจำนวน 200 ตัว ต่อปลาหมอไทยจำนวน 150 ตัว บ่อบกขนาด 1.5×2 เมตร และควรมีแพตากตัวของกบประมาณ 50% ของพื้นที่บ่อ การเลี้ยงระบบดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุน และเป็นการจัดระบบนิเวศน์ในบ่อเพื่อลดอัตราการตายของกบได้ โดยให้อาหารกบบนแพ อาหารที่ตกหล่นลงน้ำและมูลกบจะเป็นอาหารของปลาหมอไทยต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารปลา ปลายังช่วยกินเมือกของกบเวลากบป่วยเป็นการป้องกันการเกิดโรคในกบได้ โดยในการปล่อยต้องปล่อยปลาและกบขนาดใกล้เคียงกัน และรักษาระดับน้ำไม่ให้แห้งหรือเหลือน้อยเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้กบกินปลา การเลี้ยงด้วยระบบดังกล่าวจะทำให้อัตราการรอดของกบอยู่ที่ 80% อัตราการรอดของปลาเกือบ 100%

นอกจากนี้ วิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรมยังได้ร่วมกันออกแบบระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับเกษตรกรแต่ละรายที่มีสภาพแหล่งน้ำ สัตว์น้ำที่เลี้ยงอยู่เดิม และระยะเวลาที่มีน้ำในบ่อ เช่น เกษตรกรรายหนึ่งมีน้ำตลอดปี เลี้ยงปลาตะเพียนเพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาส้ม วิทยากรได้แนะนำการปลานิลควบคู่ไปกับปลาตะเพียน เพื่อให้ปลานิลกินมูลของปลาตะเพียน ทำให้เพิ่มประสิทธิพลของการเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ของเกษตรกรได้  และเกษตรกรอีกรายมีแหล่งน้ำที่มีน้ำเพียงช่วงเดือนกันยายน-มีนาคม หรือ ระยะเวลา 6 เดือน สามารถเลี้ยงปลาหลายชนิดร่วมกันหรือปลาในกระชังดังอธิบายข้างต้น จากนั้น สามารถทำประมงน้ำน้อยในพื้นที่บนบก หรือในบ่อขนาดจำกัดที่ใช้น้ำในปริมาณน้อยได้ในช่วงเวลาที่เหลือ 6 เดือน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีแหล่งอาหารและรายได้ตลอดทั้งปีได้ ถึงแม้จะปริมาณน้ำน้อย

นายกัมพล ไทยโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวว่า “ความสำเร็จจะไม่เห็นผลหากไม่ลงมือทำ แม้จะไม่ได้สำเร็จการศึกษาด้านการการทำประมงมาโดยตรงก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ หากได้เรียนรู้วิธีการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ถูกต้อง จึงเชื่อว่าเกษตรกรผู้เข้าร่วมและผู้ปฏิบัติงานภายใต้งานโครงการฯ จะสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น ตลอดจนสร้างอาชีพเพื่อเสริมรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี”

ด้านนายบุญจันทร์ สีกะพา เกษตรกรผู้ที่เข้าร่วมอบรบได้กล่าวว่า “การได้เข้าร่วมการฝึกอบรมครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้และเทคนิคที่ดีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงน้ำน้อย เพื่อสร้าง แหล่งอาหารอีกทั้งยังเพิ่มแหล่งรายได้ให้แก่ครัวเรือนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์”

สุดท้ายนี้โครงการฯ ขอขอบคุณ นายกัมพล ไทยโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ นายธนากร เฉื่อยฉ่ำ และนาย สมหวัง กูกขุนทด พนักงานการเกษตร จากสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้  การจัดอบรมครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ปฏฺบัติงานภายใต้โครงการ U2T ให้มีความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนและเป็นรายได้เสริม โครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดอบรมนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเข้าร่วมอบรมให้สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงน้ำน้อยต่อไป

 

ข่าว : นางสาววราภรณ์ สวัสดิ์นะที และนางสาวปนัดดา มงคลจิต ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิต U2T   ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ภาพ: ทีม U2T ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น