U2T คณะเกษตรศาสตร์ มข. จัดฝึกอบรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ และกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่ชุมชน มุ่งสร้างการพึ่งพากันเองในชุมชนและเพิ่มราคาขายข้าวให้สูงขึ้นด้วยการผลิตเมล็ดพันธุ์

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับสมาชิกธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Google meet ภายใต้การทำงานของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) หรือ U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมี ผศ.ดร. อรุณี พรมคำบุตร เป็นผู้ประสานงานตำบล โดยจัดการอบรม ณ โดมอเนกประสงค์ หมู่ 7 บ้านโนนสมนึก ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี นางสาวสุภาภรณ์ จันทะนุด นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร เป็นวิทยากร โดยในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ผู้ปฏิบัติงานโครงการฯ และเกษตรกร ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจตัดพันธุ์ปนในนาข้าว ตามที่ได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้เกษตรกรและผู้ปฏิบัติงานได้นำความรู้จากการอบรมนำมาปฏิบัติจริง การจัดการฝึกอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ของเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองในเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับวิถีเกษตรกร เมื่อวันที่ 5 และ 12 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว จัดตั้งขึ้นครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสำหรับเพาะปลูกอย่างเพียงพอ ชาวนามีการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีอย่างทั่วถึง และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวของชุมชน บ้านโนนสมนึกจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นในปี พ.ศ. 2560 มีสมาชิก 45 คน โดยปัจจุบันเป็นกลุ่มนาแปลงใหญ่ของกรมส่งเสริมการเกษตรด้วย กลุ่มจะรับเมล็ดข้าวจากกรมการข้าวจากนั้นกระจายให้กับสมาชิกไปผลิต และมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ทุก 2 ปี ซึ่งมีเงื่อนไข/กติกาในการรับ-ส่งข้าวคืน คือ หากรับเมล็ดพันธุ์ข้าวไป 2 กระสอบ ต้องนำมาคืน 3 กระสอบ

จากการลงพื้นที่วิเคราะห์ชุมชนของโครงการฯ พบว่า สมาชิกกลุ่มมีความจำเป็นที่จะได้รับความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อให้สามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ไปสู่สมาชิกชุมชนคนอื่นที่ไม่ได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าวได้ จึงดำเนินการจัดอบรมต่อเนื่อง 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 อบรมให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงานโครงการฯ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในกลุ่มได้ การอบรมครั้งที่ 2 เป็นการอบรมเกษตรกรร่วมกับผู้ปฏิบัติงาน โดยการจัดอบรมทั้ง 2 ครั้ง เป็นออนไลน์ผ่านทาง Google meet เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้วิทยากรและอาจารย์ผู้ประสานงานลงพื้นที่ไม่ได้ และเพื่อให้เกษตรกรได้นำความรู้จากการอบรมนำมาปฏิบัติจริง ผู้ปฏิบัติงานโครงการฯ ร่วมกับเกษตรกรลงตรวจตัดพันธุ์ปนร่วมกันในแปลงนาเกษตรกรต้นแบบในวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา

ในการอบรม วิทยากร ได้ให้ความรู้ในเรื่อง การวางแผนจัดทำแปลงข้าว การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว การเตรียมดิน วิธีการปลูก รวมไปถึงการกำจัดพันธุ์ปนข้าวในระยะต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและผู้ปฏิบัติงานเข้าใจถึงกระบวนการในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ผลการประเมินความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรต่อหลักการและกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี โดยใช้แบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังฝึกอบรมพบว่า หลังการอบรมเกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีมากยิ่งขึ้นจากค่าเฉลี่ยระดับ 4.04 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน เป็น 4.66 คะแนน และมีความคิดเห็นว่าการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสามารถปฏิบัติได้ โดยมีระดับความคิดเห็นก่อนและหลังอบรมคือ 3.33 คะแนน และ 3.67 คะแนน ตามลำดับ โดยมีสมาชิกกลุ่มสนใจเข้าร่วมจำนวน 9 คน และจากการปฏิบัติในแปลงนาเพื่อตรวจตัดพันธุ์ปนร่วมกับเกษตรกรพบว่า เกษตรกรสามารถตรวจและกำจัดข้าวพันธุ์ปน และข้าววัชพืชได้ ซึ่งหากเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ จะทำให้สามารถเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว และสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ทำให้สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในปีต่อไป กระจายเมล็ดพันธุ์ดีกับสมาชิกชุมชน และหากมีปริมาณมาก โครงการฯ ได้ประสานกับกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในจังหวัดใกล้เคียง เพื่อนำไปจำหน่าย ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการผลิตข้าวเปลือกธรรมดากิโลกรัมละ 5-6 บาท เป็น 20-25 บาท เมื่อเกษตรกรเปลี่ยนมาผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ โดยทั้งนี้ โครงการฯ จะติดตามเพื่อประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในระยะเก็บเกี่ยวต่อไป

 

นายสมร วิสุวงษ์ เกษตรกรต้นแบบ กล่าวว่า “การตรวจตัดพันธุ์ปนสามารถเก็บพันธุ์ไว้ใช้เองได้ ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดข้าว ทั้งการผลิตเมล็ดข้าวคุณภาพเพิ่มขึ้น ”

สุดท้ายนี้โครงการฯ ขอขอบคุณ นางสาวสุภาภรณ์ จันทะนุด นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว สามารถนำไปปฏิบัติและถ่ายทอดความรู้ที่ได้แก่ผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมและขอขอบคุณ นายสมร วิสุวงษ์ เกษตรกรต้นแบบ ที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการฝึกปฏิบัติจริงการตรวจตัดพันธุ์ปนในครั้งนี้

ข่าว : นางสาวอุลิญา พลสิทธิ์ ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิต U2T ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ภาพ : ทีม U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น