เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดตัวโครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ โดยมี รองศาสตราจารย์รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ Mr. Hiroyasu Sato, President of Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. กล่าวในนามผู้สนับสนุนทุน ผู้บริหาร Nissan Motor (Thailand) Co., Ltd. กล่าวในนามผู้ร่วมโครงการ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ในการนี้มีสื่อมวลชน ประชาชนที่สนใจ นักเรียน นักศึกษา ร่วมพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก ณ บริเวณโถงชั้น 1 ตึกเพียรวิจิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รองศาสตราจารย์รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ เป็นการศึกษาการออกแบบและพัฒนาเพื่อสร้างอาคารต้นแบบ สำหรับชาร์จประจุไฟฟ้าให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบ Chademo โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบสายส่งไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบ Chademo แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ในโครงการนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H (Vehicle-to-Home) หมายถึง “รถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้กับบ้านหรืออาคารได้ ซึ่งเป็นฟีเจอร์พิเศษของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความสามารถในการแปลงไฟฟ้าจากระบบขับเคลื่อนของรถ เป็นไฟฟ้าที่ใช้เพื่อการใช้งานภายในบ้านหรืออาคาร ซึ่งในโครงการนี้มีบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ให้การสนับสนุน นอกจากนี้ เรายังได้ความร่วมมือจาก บริษัท Nissan Motor (Thailand) Co., Ltd. อนุเคราะห์รถยนต์ Nissan LEAF ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ทดลองในการใช้พลังงานจากรถ EV เพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าพลังงานสำรองในครัวเรือน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินโครงการจะเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า และ เป็นประโยชน์สำหรับ นักศึกษา บุคลากร และผู้สนใจต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ ด้วยนโยบายดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการที่สำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building), โครงการวิจัยการนำแบตเตอรี่ที่พัฒนาและผลิตโดย ม.ขอนแก่นมาพัฒนาต่อเป็นระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Battery Energy Storage System (BESS) รวมไปถึงโครงการ “ต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์” เชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเกิดประโยชน์สามารถใช้เวทีแห่งนี้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา นอกจากนั้นผลจากการศึกษาวิจัยในโครงการจะเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า การจัดการพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และขยายผลไปสู่การปฏิบัติที่เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต
Mr. Hiroyasu Sato, President of Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. กล่าวในนามผู้สนับสนุนทุน ว่า ซึ่งเทคโนโลยี V2H เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการศึกษาระบบนิเวศของรถ EV ที่ช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนหรืออาคารได้ เชื่อว่าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ จะไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชนในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในระยะยาวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการให้ความรู้แก่ผู้นำและนักประดิษฐ์รุ่นต่อไป
คุณอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ประธาน นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า นิสสัน ได้ผลิต นิสสัน ลีฟ สู่ตลาดโลกในปี พ.ศ. 2 553 และเป็นผู้จำหน่าย รถยนต์ไฟฟ้า ในเชิงพาณิชย์ รายแรกของโลก สิบสามปีต่อมา วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าของเราแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งนิสสัน ลีฟ พร้อมเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบสองทิศทาง เป็นหนึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าไม่กี่รุ่นที่สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับทุกสิ่งได้ จากนวัตกรรมดังกล่าว เราจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันของ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อใช้ นิสสัน ลีฟ ในการช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การจัดการพลังงาน การลดก๊ซคาร์บอน และอื่นๆ นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป การร่วมมือระหว่างนิสสัน ประเทศไทย กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Mitsubishi ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีความสำคัญ และสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างสังคมที่ยั่งยืนร่วมกัน
ผศ.ดร.วศกร ตรีเดช อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวปิดท้ายว่า โครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศน์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งด้วยการออกแบบ และ สร้างรถโดยสารขนาด 20 ที่นั่ง ที่ใช้เทคโนโลยีการชาร์จประจุแบบ Chademo ภาระบรรทุกรวมน้ำหนักตัวรถ 3,400 กิโลกรัม สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในการชาร์จ 1 ครั้ง จาก 0 ถึง 100% ใช้ระยะเวลา 8 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทาง 155 กิโลเมตร อัตราความเร็ว 60 เฉลี่ยกิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหากคิดในอัตราค่าไฟบ้านเฉลี่ยประมาณ 5 บาทต่อหน่วย งบประมาณในการชาร์จต่อ 1 ครั้ง จะอยู่ที่ 157.50 บาท นอกจากนี้ยังสามารถแปลงพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในรถยนต์ให้จ่ายย้อนกลับไปสู่สถานีชาร์จประจุได้ ซึ่งการชาร์จประจุสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบไฟฟ้าของระบบสายส่ง กล่าวคือ ระบบการชาร์จประจุแบบ Chademo ทำให้รถโดยสารขนาด 20 ที่นั่ง คันนี้เสมือนหนึ่งพาวเวอร์แบงค์นั่นเอง
“ระบบชาร์จตัวนี้มีที่มาจากวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าของญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้เมืองที่อยู่รอบๆไฟฟ้าดับญี่ปุ่นจึงพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา กรณีประชาชนต้องการระบบไฟฟ้าก็สามารถใช้รถของตนเองแปลงพลังไฟฟ้าย้อนกลับ สามารถดึงไฟออกจากรถเพื่อเอามาใช้งาน ฉะนั้นระบบชาร์จ Chademo จึงมีข้อดี คือ เป็นระบบ 2 ทิศทางสามารถชาร์จไฟฟ้าจากระบบสายส่ง หรือ โซล่าเซลล์เข้าสู่ตัวรถได้ และ สามารถปล่อยแรงดันไฟฟ้าย้อนกลับคืนจากตัวรถย้อนไปสู่ตัวบ้านเพื่อเอาไว้ใช้งานได้
ข่าว : รวิพร สายแสนทอง
ภาพ : นายธราดล ณ จำปาศักดิ์ นักศึกษา สาขาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น