มข. เผย 3 มาตรการ บริหารจัดการน้ำ สู้ภัยแล้ง

ในภาวะวิกฤติที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาภัยแล้ง น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งถือเป็นเขื่อนหลักของจังหวัดขอนแก่น อยู่ต่ำกว่าระดับปกติ เรียกว่า ขอดเอาน้ำก้นเขื่อนออกมาใช้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะองค์กรทางการศึกษาที่ดำเนินทุกกิจกรรมโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ตามนโยบาย  Ecological ด้านระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม  ฉะนั้นฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีมาตรการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติภัยแล้ง เพื่อประชาคมรอบรั้วมหาวิทยาลัยให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้  รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า น้ำที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้อยู่เริ่มต้นจากชลประทานหนองหวายบริเวณน้ำพอง มาตามคลองส่งน้ำ ซึ่งเป็นคลองคอนกรีตเสริมเหล็กระหว่างทางจะมีผู้ใช้น้ำ ดึงน้ำไปใช้อยู่ตลอดส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นปลายทางจึงได้รับผลกระทบในกรณีที่ขาดน้ำ  ชลประทานหนองหวายส่งน้ำในคลองประมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตร มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ใช้น้ำจริง 70,000 ลูกบาศก์เมตรปัญหาคือเราได้น้ำในปริมาณที่น้อยและก็คุณภาพค่อนข้างจะแย่เมื่ออยู่ปลายทาง เนื่องจากจะมีพวกสาหร่าย น้ำที่รับมาจะถูกเก็บอยู่ในสถานีสูบน้ำ  โรงผลิตน้ำประปา และสระพลาสติก  ซึ่งมีความสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตรเศษ

“ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาของน้ำ ด้วยสถานการณ์น้ำในปัจจุบันทำให้ชลประทานหนองหวายสามารถส่งน้ำมาให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นสัปดาห์ละ 1 วัน แต่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความต้องการใช้น้ำอยู่ประมาณ 70,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อ 7 วัน ซึ่งปัจจุบันความจุของการกักเก็บน้ำทั้งหมดของมหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถเก็บน้ำได้ประมาณแค่ 6 วัน ก็คือประมาณ 60,000 ลูกบาศก์เมตรจึงต้องบริหารจัดการการใช้น้ำเพื่อจะให้เพียงพอ”

ถังสำรองน้ำดิบ

 

สระพลาสติก มข.

 

บ่อเก็บน้ำดิบบ้านโกทา

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีแนวนโยบายการบริหารจัดการน้ำ โดย 1. ลดแรงดันจ่าย  การลดแรงดันจ่ายจะทำให้ปริมาณที่รั่วไหลลดน้อยลง โดยวิธีนี้จะกระทบกับผู้ใช้น้ำน้อยที่สุด 2. หาพื้นที่กักเก็บน้ำให้มากขึ้นเร่งด่วนคือขุดรอกตรงหนองโกทา เพื่อให้มีความจุที่มากขึ้น คาดว่าความจุมากขึ้นราวร้อยละ 20 ถึง 30 ของที่มีอยู่  3. เหนือสิ่งอื่นใด การแก้ไขภัยแล้งที่ยั่งยืน  คือรณรงค์แคมเปญเพื่อกระตุ้นให้บุคลากร นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วยกันประหยัดน้ำ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้ ณ เวลานี้เรายังไม่ถึงขั้นขาดแคลนน้ำ แต่ คิดว่าในเวลาอันใกล้อาจมาถึงวิธีนี้ยั่งยืนที่สุด  หากดำเนินครบตาม 3 วิธีหลัก มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะมีความเสี่ยงในเรื่องของการประสบปัญหาภัยแล้งก หรือการขาดน้ำน้อยมาก”

 

ถังสำรองน้ำประปา

คลองส่งน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์

อย่างไรก็ตามมีข้อมูลรายงานว่า ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ น้ำต้นทุนของเขื่อนมีปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับถึงตอนนี้น้ำต้นทุนของเขื่อนต้องใช้คำว่าขอดเอาน้ำก้นเขื่อนออกมาใช้ โดยประมาณการว่าติดลบราว 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางชลประทานหนองหวาย ตลอดจนทุกชลประทาน มีความพยายามที่จะบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอใช้ในฤดูแล้งที่ยังมีต่ออีกหลายเดือนนี้ จึงอยากเชิญชวนชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น บุคลากร เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ ประหยัดให้ได้มากที่สุดเพื่อเผชิญภัยแล้งนี้ได้อย่างลุล่วงร่วมกัน

https://th.kku.ac.th/16260/